เป็นไปตามคาดผลลงคะแนนลับ ของที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวน 2 คน คือ นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีต เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์
ทั้งคู่ได้คะแนนเห็นชอบน้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ ถือว่าไม่ได้รับเลือกต้องกลับไปเริ่มต้นสรรหากันใหม่อีกรอบ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา 8 คน อาทิ ประธานศาลฎีกา เป็น ประธาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นกรรมการ
โดยประธานศาลฎีกา เป็นประมุข ฝ่ายตุลาการ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสองสถาบันเป็น 2 ใน 3 เสาหลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกรรมการสรรหาทุกคนได้คัดสรรบุคคลที่มีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่มีพฤติกรรมทางจริยธรรมดี
วุฒิสภากล้าหักหน้าคณะกรรมการ สรรหาฯจึงถูกสังคมตั้งคำถามว่ามีใบสั่งให้บล็อกโหวตไม่ให้ความเห็นชอบหรือไม่ เพราะ สว.บางส่วนรู้ผลล่วงหน้าก่อนโหวตเป็นแรมเดือนว่าในเมื่อ 2 ผู้สมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกวางตัวเอาไว้ ไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย อย่าไปคาดหวังผู้ที่ผ่านเข้ามาจะได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา
ข้อครหาเช่นนี้เคยถูกกล่าวหามาก่อนหน้านั้น แม้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ โดยลำดับถัดไปจะถึงคิวกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. 5 คน จาก 7 คน ที่กำลังหมดวาระลงต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน
กระบวนการสรรหา กกต.ก็มีขั้นตอนเช่นเดียวกับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนให้ สว.ที่ไม่ฝักใฝ่หรืออยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใดๆ ลงคะแนนลับเลือกในที่ประชุมวุฒิสภา ประเด็นสำคัญคือองค์กรอิสระเหล่านี้คอยตรวจสอบนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจและกำลังเข้าสู่อำนาจ แต่พฤติกรรม สว.ที่เกิดขึ้นส่อขัดรัฐธรรมนูญ
...
หาก สว.มีพฤติกรรมเช่นนี้ อยู่ภายใต้อำนาจผู้มีบารมีของพรรคการเมือง คอยปฏิบัติตามคำสั่งให้ความเห็นชอบบุคคลในเครือข่าย เข้าไปเป็นกรรมการ องค์กรอิสระต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือจัดการนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ช่วยเหลือฝั่งตัวเองหวังกินรวบประเทศ ย่อมขัดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม