รองนายกฯ และรมว.คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยบอกว่า สิ่งที่เขาต้องทำให้สำเร็จตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับรัฐบาล และประชาชนคนไทยมีอยู่ 2 เรื่องสำคัญด้วยกัน
เรื่องแรกคือ ทำให้ตั๋วรถไฟฟ้า 10 สาย มีราคา 20 บาทเท่ากันตลอดสาย เรื่องที่สองคือ ต้องแก้ปัญหาถนนพระราม 2 ให้สำเร็จให้จงได้
เรื่องของตั๋วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำไปแล้วใน 3 เส้นทางตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 66 เป็นต้นมา รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพู เป็นอีก 2 เส้นทางตามมาต่อเนื่องในปี 67 และจะครบทุกสายในช่วงกลางปี 68 นี้
ประโยชน์ที่ได้คือคนจนเมือง คนชนชั้นกลาง และนักเรียน นักศึกษาที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการเดินทางไปทำงาน และเรียนหนังสือ
หลังทำราคาตั๋วรถไฟฟ้าต่ำลงตลอดสายได้แล้ว จะใช้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมออกมารองรับนโยบายนี้ได้ในเดือนกันยายนปีนี้ เพื่อบริหารจัดการด้านระบบการขนส่งทั้งหมดของกทม.ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน หมายความว่า ตั๋วใบเดียวใช้ได้ทั้งรถไฟ รถเมล์ และแม้แต่เรือโดยสาร เพื่อลดภาระรายจ่ายของคนเมืองซึ่งไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นมานานแล้ว
ส่วนเรื่องของถนนพระราม 2 ถ้าสามารถดึงผ้าปูโต๊ะสลัดทิ้งทุกอย่างออกไปได้หรือเอาโครงการที่ต่างคนต่างสร้างในเส้นทางนี้ออกไป แล้วเคลียร์พื้นที่เพื่อเริ่มต้นทำงานกันใหม่...คงทำไปแล้ว
กทพ.-ทางหลวง-คมนาคม
ถมงบ 50,000 ล้านลงพระราม 2
ซอยยิบแบ่งผู้รับเหมาออกเป็น 14 ราย
แต่เมื่อทำไม่ได้ ซ้ำร้ายยังดูเหมือนไม่มีผู้รับเหมารายใด แม้แต่ข้าราชการ และพนักงานรัฐของรัฐทั้งจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กรมทางหลวง ใส่ใจเรื่องการเข้มงวดด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างที่ต้องเป็นอันดับหนึ่งมากพอด้วยแล้ว การแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างถนนพระราม 2 ซึ่งแต่ละรัฐบาลร่วมกันถมโครงการต่างๆ ลงไปตลอดระยะทางยาว 85 กิโลเมตร...ให้เสร็จส้ินไปโดยเร็ว จึงกลายเป็นเรื่องยากมาก ถึงยากที่สุด
...
ถนนพระราม 2 หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 เป็นถนนสายหลักที่มุ่งหน้าสู่ภาคใต้นั้น เดิมทีมีระยะอยู่ในเขตกทม.ทางเพียง 14.66 กิโลเมตร แต่มาเริ่มต้นก่อสร้าง และขยายเส้นทางจากดาวคะนอง-วังมะนาว ตัดผ่านจังหวัด กทม. สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ ราชบุรี ต่อไปจนถึงภาคใต้ โดยเฉลี่ยมีผู้ใช้รถใช้ถนนเส้นนี้มากกว่า 1 แสนคันต่อวัน
ด้วยเหตุที่ใครๆ ก็อยากเอาโครงการของตัวมาลงบนถนนสายนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่ต้นสังกัดจากกระทรวงคมนาคมเอง จึงมีโครงก่อสร้างอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการขยายถนนทางแยกต่างระดับ ทางยกระดับสายธนบุรี-ปากท่อ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุน เทียน - บ้านแพ้ว
มีโครงการก่อสร้างเส้นทางพิเศษระหว่างเมือง สายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกทม.ด้านตะวันตก ด่วนเฉลิมมหานคร และ ทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว...สิริรวมเป็นงบประมาณมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท
แปลกแต่จริง โครงการต่างๆ บนถนนเส้นนี้ ได้ถูกซอยเป็นสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมา 14 ราย จากที่มีอยู่เดิม 16 - 20 ราย หลังถูกไล่กุ้ยออกไปเพราะทำงานไม่เสร็จ ไม่สามารถส่งมอบงานได้ แบงก์ไม่ปล่อยกู้ และเบี้ยวงานไปเฉยๆ
ปูมหลังถนน 7 ชั่วโคตร
ก่อสร้าง 50 กว่าปีไม่เคยเสร็จ
การก่อสร้างที่ไม่มีวันเสร็จส้ินจากการโหมกระหน่ำทำโครงการก่อสร้างต่างๆ เข้าไปมากมาย ซ้ำยังต้องซ่อมแซมผิวการจราจรที่ชำรุดทรุดโทรม เพราะเริ่มก่อสร้างถนนมาราว 30 ปี ก่อนที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะเข้ารับตำแหน่งเป็น รมว.คมนาคม ในปี 2546
กระทั่งถึงปี 66 หรือราว 20 ปีกว่า สุริยะ จะหวนกลับมารับตำแหน่งนี้ ควบคู่กับรองนายกฯอีกครั้ง ระยะเวลาโดยรวมของการก่อสร้างถนนสายนี้จึงคำนวนได้ว่า อาจจะมากกว่า 50 ปี จึงไม่แปลกที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจะขนานนามถนนพระราม 2 ว่า “ถนน 7 ชั่วโคตร”
ชุติมา บูรณรัชดา รองบรรณาธิการบริหารสื่อจากค่ายเดลินิวส์ เล่าว่า เธออาศัยอยู่ในย่านถนนพระราม 2 มาเป็นเวลานานถึง 30 ปีแล้ว ยังไม่เคยมีสักครั้งที่จะเดินทางบนถนนเส้นนี้ด้วยความราบรื่น เพราะมันไม่เคยก่อสร้างเสร็จ ซ้ำยังสร้างปัญหาให้ชาวบ้านอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการคร่าชีวิตคน
มีผู้นับสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 ย้อนหลังไปในปี 65 - 68 ว่า มีอุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในปี 65 ข้ามมาปี 66 รวม 5 ครั้ง เริ่มจากแผ่นปูนสะพานกลับรถน้ำหนัก 5 ตันหล่นใส่ แผ่นปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ร่วงลงบนถนนอีกหลายครั้ง เช่นเดียวกับเครนล้มขวางถนน และเหล็กแบบก่อสร้างทางยกระดับทั้งแผงหล่นทับรถยนต์ และคนงาน
มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 1 คน รถยนต์พังเสียหายไป 4 คัน
ต้นปี 67 มีอุบัติเหตุใหญ่เกิดขึ้นอีก 5 ครั้ง ตั้งแต่รถเครนสลิงขาด ทำให้กระเช้าหล่นลงมาทับคนงานจนเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 1 คน, นั่งร้านสูง 14 เมตร ล้มในโครงการมอเตอร์เวย์ ขวางถนนพระราม 2 ขาเข้า แผ่นเหล็กหล่นใส่กระโปรงรถยนต์ประชาชนที่วิ่งอยู่ ช่องจราจรทางขวาเจาะเป็นปากฉลาม ขณะขับผ่านสะพานลอยแยกวัดปากบ่อ โชคดีไม่มีคนเสียชีวิต หรือบาดเจ็บ
เหตุการณ์อีก 2 ครั้งเกิดขึ้นจากสะเก็ดไฟในการก่อสร้างสะพานร่วงเฉียดรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนพระราม 2 แถววัดยายร่ม และเครนถล่มลงมาพร้อมแผ่นปูนบนถนนพระราม 2 ช่วงกม.ที่ 21 มหาชัยเมืองใหม่ ครั้งนี้ไม่โชคดี เพราะมีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 9 คน
ล่าสุด อุบัติเหตุใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา จากคานซีเมนต์ขนาดใหญ่ยาว ร่วงจากหัวเสาเหล็กลงมาทับคนงาน และวิศวกร เสียชีวิต 6 คน (ยังเอาตัวออกมาไม่ได้ 2 คน) บาดเจ็บ 27 คน
อันที่จริง รมว.คมนาคม วางแผนว่า ถนนพระราม 2 จะต้องเสร็จส้ินภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ แต่เมื่อมีอุบัติเหตุใหญ่เกิดขึ้นอีก อาจต้องใช้เวลาจัดการเคลียร์พื้นที่ยาวออกไป โดยเฉพาะเมื่อต้องรื้อคานอีกด้านลง เนื่องจากอาจเกิดความไม่ปลอดภัย เพราะถล่มลงไปข้างหนึ่งแล้วจึงมีโอกาสจะถล่มลงอีกข้างได้ ถ้าไม่รื้อไม่รื้อออกโดยเร็ว
จึงน่าจะมีผลให้เป้าหมายของเขาต้องเปลี่ยนไปเป็นเดือนที่ 9 หรือ ส้ินปี 68 การก่อสร้างต่างๆ บนถนนพระราม 2 จึงจะแล้วเสร็จ...ถ้าไม่เสร็จ สุริยะ ให้สัญญาว่าเขาจะบอกเลิกสัญญา เอาผู้รับเหมารายอื่นเข้าไปทำแทน!
สำคัญคือ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก ผู้รับเหมาต้องถูกปรับตกชั้นพิเศษลง ซึ่งจะไม่มีโอกาสได้รับงานของราชการใน 2 - 3 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมารายนี้ต้องจ่ายเงินเยียวยาญาติผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้านบาทในเบื้องต้น รวมถึงการเยียวยาผู้บาดเจ็บทั้งหมดด้วย
ส่วนสมุดคะแนนผู้รับเหมา ซึ่งดำเนินการโดยกรมบัญชีกลาง ใกล้ประกาศเป็นกฏกระทรวงเพื่อตัดคะแนนผู้รับเหมาที่ไม่เคร่งครัดเรื่องการรักษาความปลอดภัยแล้ว
อุบัติเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้นนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังได้มีคำสั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) เข้าไปตรวจสอบความผิดพลาดเพื่อดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง และอาญากับผู้รับเหมาด้วย เนื่องจากมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย
ผ่านมามากกว่าครึ่งค่อนชีวิตแล้ว รออีกสัก 6 เดือน คงไม่เป็นปัญหา