"ปริญญา" เผยผลวิจัย ชี้ปัจจุบันเงินซื้อเสียงไม่มีผลต่อการเลือก ส.ส. พบคนส่วนใหญ่รับเงินจริงแต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้น แนะแก้ปัญหาซื้อเสียง กระตุ้นชุมชนให้มองเป็นเรื่องผิด รวมถึงแก้ กม.ให้ศาลฎีกา ตัดสินคดีเลือกตั้งแทน กกต. ยกเลิกยุบพรรค หันมาลงโทษให้หนักเป็นรายบุคคล...

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.  นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการวิจัย เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง พบว่าปัจจุบันการใช้เงินเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนเลือกตนเองในการเลือกตั้งระดับชาติ มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยลงจากเดิม และไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้ หรือชนะการเลือกตั้งอีกต่อไป โดยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ยอมรับว่ารับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้น ถึงร้อยละ 46.79 ส่วนร้อยละ 48.62 ตอบว่าแม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือก และผู้ที่ตอบว่าเลือกเพราะได้รับเงินมีเพียงร้อยละ 4.59 ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมมนากลุ่มย่อยของผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่างๆ พบว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้สมัครเพราะเงิน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการซื้อเสียงหรือการให้เงินหรือสิ่งของเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ตัดสินใจเลือกผู้สมัครนั้น เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย การซื้อเสียงเลือกตั้งยังปรากฏทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการทางกฎหมายควบคุมไม่ให้เกิดการซื้อเสียง เช่น การตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค การกำหนดให้มีสินบนในการนำจับผู้ที่กระทำการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะว่าประชาชนไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระบบอุปถัมภ์ยังมีผลอยู่ และขาดมาตรการที่ดีพอในการทำให้ผู้ร้องเรียนรู้สึกปลอดภัยในการยื่นเรื่องร้องเรียน

นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนว่า การซื้อเสียงถือเป็นความผิด ในส่วนของนักการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ควรจะมีกระบวนการตกลงกันของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งความจริงก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ควรจะทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ในส่วนของผู้สมัครมากขึ้น จะทำให้ผู้สมัครหันมาสู้กันตามกฎกติกามากขึ้น

ส่วนมาตรการทางกฎหมายที่ต้องแก้ไขนั้น ในการเลือกตั้งระดับชาติควรให้ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง เป็นผู้ตัดสินแต่เพียงอย่างเดียว โดยให้ กกต.เป็นผู้ส่งคำร้อง โดยขอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีส่วนของวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้ง เป็นการเฉพาะ ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ให้ศาลอุทธรณ์ในแต่ภาคทำหน้าที่ เพื่อลดภาระของศาลฎีกาในส่วนกลาง ขณะที่มาตรการในการยุบพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 237 นั้น ไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนเป็นการลงโทษเป็นรายบุคคลแทน โดยเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น และการสืบสวนสอบสวนการกระทำการทุจริตในการซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้น ประสบปัญหาผู้รับเงินไม่กล้าร้องเรียน และปัญหาพยานกลับคำให้การ จึงควรที่จะมีระบบการคุ้มครองผู้ร้องและพยานให้มากขึ้น.

...