ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา หลังเลือกตั้งปี 2566 มาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ออกมาดูเหมือนจะยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ปัญหาปากท้องชาวบ้านยังเป็น โจทย์ใหญ่ และเพิ่มความยากยิ่งขึ้นจากสถานการณ์สงครามการค้าปั่นป่วนโลก

ล่าสุดมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจากการแถลงของนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ในปี 2567 เศรษฐกิจขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 แม้จีดีพีจะดีขึ้นกว่า ปี 2566 ที่ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 2 แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์

ขณะที่ในปี 2568 สศช.ประมาณ การจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 2.3-3.3 หรือค่ากลางที่ร้อยละ 2.8 แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่น่าพอใจ และยังต่ำกว่าจีดีพีของหลายประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน สะท้อนว่า มาตรการต่างๆในการแก้ปัญหา และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลยังมีความเสี่ยงสูงที่จะพลาดจากเป้าที่วางไว้

ที่สำคัญคือ จากการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ถึงแม้มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยวและบริการ แต่หากดูการลงทุนภาครัฐพบว่าขยายตัวลดลงจากการปรับเปลี่ยน กรอบเบิกจ่ายงบฯกลางปี 2568 ไปใช้ ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมไปถึงการปรับลดกรอบงบฯ ปี 2569

ชัดเจนว่าอีกปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือเรื่องการลงทุนภาครัฐ การสร้างความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ขณะนี้มาตรการต่างๆยังไม่เป็นรูปธรรมให้เห็น โดยเฉพาะนโยบายเรือธงสำคัญ การเติมเงิน 1 หมื่นบาท ให้ประชาชนผ่านไปแล้ว 2 เฟส และยังไม่เสร็จสิ้น

ดังนั้น การแจกเงินรอบต่อไปในเฟส 3 ให้แก่ประชาชนอีกกลุ่มใหญ่ อายุ 16-60 ปี อีกประมาณ 1.5 ล้านคน ใช้งบฯ 1.5 แสนล้านบาท จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนาระบบแจก เงินดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้ทันตามกำหนดการที่รัฐบาลประกาศไว้ คือจะเริ่มแจกเงินได้ในช่วงประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

...

เพียงแต่ว่ากำหนดการที่ประกาศไว้ คงจะไม่ติดโรคเลื่อนเหมือนที่ผ่านมา เพราะเอาแค่การปรับซอยการแจกเงินเป็น 3 รอบ ก็ถือว่าเป็นการอัดเงินเข้าสู่ระบบยิบย่อย ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากต้องล่าช้าอีกเดิมพันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็คงทำได้แผ่วเบา และกระทบต่อแผนงานรัฐบาลอีกหลายเรื่อง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม