ยังไม่พบปัญหาจ่ายไฟให้เมียนมา “ภูมิธรรม” ระบุ มหาดไทยก็เป็นหน่วยงานความมั่นคง ต้องทำงานร่วมกัน ไม่กังวลหากไทยถูกลดความเชื่อมั่นหลังมีข่าวค้ามนุษย์ โต้ “กัณวีร์” ข้อเสนอดีแต่ทำไม่ได้ เหน็บพรรคประชาชน ต้องนึกถึงความเป็นจริงด้วย
วันที่ 30 มกราคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังวานนี้ (29 มกราคม 2568) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ การตัดไฟเป็นอำนาจในการสั่งการของหน่วยงานความมั่นคง นายภูมิธรรม ตอบคำถามนี้ว่า ถ้าปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงหน่วยงานก็สามารถสั่งให้ตัดไฟได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะยังตรวจไม่พบ แต่หากมีการร้องเข้ามาหน่วยงานความมั่นคงก็พร้อมที่จะเข้าไปตรวจสอบ เจ้าภาพของหน่วยงานความมั่นคงก็คือทหาร ตำรวจ และตน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องช่วยประสานงานอีกทางหนึ่ง
ส่วนประเด็นว่าหน่วยงานไหนส่งเรื่องร้องเรียนให้กระทรวงมหาดไทยก็จะตัดไฟได้นั้น นายภูมิธรรม ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานความมั่นคง เมื่อวันนี้มีปัญหาเราก็พร้อมที่จะบูรณาการร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีศูนย์ Single Command คือ หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดน (นบ.ยส.)
เมื่อถามว่าขณะนี้กระทบความมั่นคงของประเทศหรือยัง นายภูมิธรรม เล่าว่า ในประเด็นที่หนึ่ง ไฟฟ้าที่เราจ่ายให้ประเทศเมียนมาทั้งหมด 2 จุด คือบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ขณะนี้ยังไม่มีการตัดไฟ ใช้กันตามปกติ เพราะมีศูนย์เด็กเล็กและมีศูนย์พยาบาล ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับยาเสพติดหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อีกหนึ่งคือบริเวณแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเล็กๆ เราก็ยังจ่ายไฟให้กับชุมชนอยู่ โดยจุดที่มีปัญหาคือ อ.แม่ระมาด และ อ.แม่สอด ซึ่งได้ตัดไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 แล้ว แต่หลังจากนี้ถ้าใครดำเนินการให้ไฟฟ้าก็ถือว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มอาชญากรรม ส่วนที่มีไฟใช้อยู่ขณะนี้ตนก็ไม่ทราบว่าจะมีการปั่นไฟใช้เพิ่มเติมหรือไม่ เราทำได้เพียงตามดู เพราะเป็นเรื่องภายในของเขา แต่ทางการไทยเราซีลและจัดการหมดเป็นที่เรียบร้อย
...
ผู้สื่อข่าวถามต่อ จากการที่รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่าจะมีการประชุมกับหน่วยงานความมั่นคง ในวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2568 จะมีการสรุปเรื่องของความมั่นคงกับการขายไฟให้ประเทศเมียนมาหรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า หลังจากการประชุมวันนี้ไปจะเป็นการบูรณาการอย่างสูงสุดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งการประชุมกับ 51 อำเภอ 76 สถานีตำรวจ ในครั้งนี้จะถือว่าเป็นการซีลชายแดนอีกชั้นหนึ่ง เพราะอาจจะมีการเล็ดลอดเข้ามาพักพิงในแต่ละอำเภอ โดยรัฐจะกำหนดกรอบเวลาในการประเมินโครงการนี้ทั้งหมด 6 เดือนหลังจากนี้ ส่วนในพื้นที่แม่สอด จ.ตาก ใช้โมเดลการจัดการในสมัยที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำมาก่อน หากสำเร็จก็จะเป็นแบบอย่างให้กับในหลายๆ เรื่อง

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าไทยจะถูกปรับลดไปอยู่เทียร์ 2 (Tier 2) ในเรื่องของการค้ามนุษย์ นายภูมิธรรม เผยว่า เราทำงานตรงนี้เราไม่ต้องกังวลอะไร คำถามเหล่านั้นก็จะหายไปเอง แต่ถ้านิ่งเฉยไม่ได้ทำอะไรนี่ถึงจะควรถาม ตนย้ำว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นการพูดคุยกับผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ไม่ใช่แค่เรื่องของยาเสพติดเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงปัญหาชายแดน อาชญากรรม คอลเซ็นเตอร์ และการจัดการฝุ่นทุกอย่างจะรวมอยู่ในนี้ พร้อมให้ความมั่นใจว่าเมื่อรัฐบาลนั้นมอบหมายแล้วฝ่ายความมั่นคงก็ต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนนี้ แต่สำหรับภารกิจนี้ยังไม่รวมในส่วนของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะต้องมีมาตรการเฉพาะ
ขณะเดียวกัน นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงการรับมือกรณีที่สหรัฐอเมริกาตัดงบประมาณสนับสนุนโรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งในไทย ว่า รัฐบาลก็ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเราเป็นประเทศหนึ่งในผู้ช่วยเหลือ ซึ่งส่วนที่ดำเนินการในเรื่องนี้คือ IRC และองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในความรับผิดชอบของเรา ก็จะดูแลช่วยเหลือตามศักยภาพที่จะช่วยได้ แต่ในเรื่องนี้ทาง UN ประกาศว่าจะจัดการภายใน 3 เดือนที่จะเจรจากับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จึงเป็นเรื่องของ UN ไม่ใช่เรื่องของเรา ส่วนเราก็ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่
ทางด้านกรณีที่ นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม มีข้อเสนอให้รับรองผู้ลี้ภัยสามารถทำงานถูกกฎหมายในประเทศไทย จะเป็นแนวทางที่ทำได้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนได้รับฟังข้อเสนอจาก นายกัณวีร์ และทางพรรคประชาชน แต่อยากให้มองความเป็นจริง อยู่ๆ มาบอกให้เราไปรับรองทั้งหมด จะแบกไหวไหม ถามประชาชนคนไทยว่าจะเอาหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นการคิดดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ ข้อเสนอแบบนี้ไม่ควรจะเป็นข้อเสนอที่มาช่วยกันคิดจริงๆ เพราะเป็นข้อเสนอที่เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแล แต่ถ้าทำเช่นนั้นปัญหาจะตามมาอีกมาก
หรือแม้กระทั่งที่ตนเห็นพรรคประชาชน และนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ออกมาให้ความเห็น ตนก็อยากให้คิดบวก อย่าคิดว่าอะไรเป็นปัญหาหมด และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะรัฐบาลก็รับผิดชอบอยู่แล้ว โดยดึงความร่วมมือในทุกส่วน ทั้งภาคประชาชนและในพื้นที่มาช่วยกัน หรือบางเรื่องที่ นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคประชาชน ออกมาโพสต์กรณีผู้ช่วยรัฐมนตรีจีน ก็อยากให้คิดบวก คุยกันแล้ว ช่วยกันทำงานจริงๆ เพราะในระดับรัฐมนตรีมีการพูดคุยกันแล้วกับหลายกระทรวง ซึ่งไม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปเดินเรื่องทั้งหมด

นายภูมิธรรม ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีจีนได้มีการประสานการทำงานกับระดับบนเรียบร้อย อยากให้ศึกษาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนแล้วค่อยวิจารณ์ อย่าใช้บรรยากาศอย่างนี้แล้วมาวิจารณ์ เพื่อทำให้รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ อยากให้เอาข้อมูลครบถ้วน ถ้าบอกว่าเรื่องนี้ยังมีปัญหา มีปัญหาอะไรหรือไม่ ควรจะถามคำถามแบบนี้มากกว่าที่จะบอกว่าเข้าใจเหลือเกิน มองดูแล้วรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย อันนี้ไม่บวก อยากให้คิดบวกบวกให้มากกว่านี้
นอกจากนี้ ประเด็นที่หน่วยงานสิทธิมนุษยชนเรียกร้องไม่ให้มีการส่งตัวชาวอุยกูร์ที่ถูกคุมขังในไทยกลับประเทศจีน นายภูมิธรรม ระบุว่า ก็เป็นความต้องการของแต่ละฝ่าย ที่สำคัญต้องยึดถือฝ่ายไทย ซึ่งเราคำนึงถึงสิทธิ เอกราชอธิปไตยของเรา และเรื่องสิทธิมนุษยชน ยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงที่มีอยู่ ที่เราจะดำเนินการจัดการทุกอย่าง เช่น ชาวอุยกูร์เข้าเมืองผิดกฎหมาย เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย แต่ตอนนี้เราก็มีปัญหาที่ทางต่างประเทศส่งมาถึง เรื่องที่ชาวอุยกูร์เข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ไม่ควรจับเขามาขังนาน 10 ปีแบบนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องหาทางออก ได้มีการส่งตัวไปยังประเทศที่ 3 จำนวน 100 กว่าคน เป็นผู้หญิงและเด็กถูกส่งไปยังประเทศตุรกี และกว่า 10 ปีก็ยังไม่มีการส่งตัวเลย เราก็ต้องดำเนินการตรงนี้ให้ชัดเจน ทั้ง 2 ด้านมีปัญหาทั้งสิ้น ต้องดูว่าจะทำตรงไหนให้ได้อย่างไร สิ่งที่สำคัญต้องทำตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด และต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน แล้วข้อตกลงที่ว่าเราต้องไม่ส่งใครไปในพื้นที่อันตราย ตรงนี้ยังเป็นหลักของรัฐบาลไทยอยู่ ขออย่ากังวล
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าจะทำอะไรหรือไม่ อย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องแบบนี้ไม่คุยกันผ่านสื่อ คุยกันผ่านสื่อก็ไม่ต้องแก้ปัญหา เรื่องนี้เรายืนยันทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าใครก็มากดดันเราไม่ได้.