“สว.อังคณา” ฉะ “สว.อะมัด” ลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ หลังชงไลฟ์สดประหารชีวิตพ่อค้ายาเสพติด ลั่นอย่าใช้วิธีรุนแรงซ้ำเหมือนฆ่าตัดตอนเหมือนในอดีต - ไม่เห็นด้วยส่ง “อุยกูร์” กลับจีน
วันที่ 29 ม.ค. 2568 ที่รัฐสภา นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอะมัด อายุเคน สว. เสนอให้ประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติดในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่า เมื่อวานได้แสดงความคิดเห็นต่อ ป.ป.ส. ว่าจะมีหลักประกันอะไรในการปราบยาเสพติดไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ในช่วงสงครามยาเสพติดที่ฆ่าตัดตอนไปราว 2,000 คน แต่สุดท้ายไม่มีผู้กระทำผิดแม้แต่คนเดียวที่ถูกลงโทษ ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ห่วงใย และส่วนกรณีที่มี สว. พูดถึงเรื่องการประหารชีวิตนั้น ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ แต่คงต้องไปทบทวนเหตุการณ์ในอดีต ที่มีการฆ่าตัดตอนคนจำนวนมาก แต่สุดท้ายยาเสพติดก็ไม่หมดไปแต่อย่างใด
ดักทางนายกฯ อย่าใช้วิธีรุนแรงซ้ำอดีต
เมื่อถามว่า มีข้อเสนอที่ให้มีการถ่ายทอดสด (ไลฟ์สด) ในช่วงการประหารชีวิตนั้น นางอังคณา กล่าวว่า ถือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง และไม่ได้ทำให้เกิดความหลาบจำ แต่จะทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย เช่น เด็กเยาวชน ได้มองเห็นวิธีการแบบนี้เป็นวิธีที่สามารถทำได้ ซึ่งความจริงแล้วขัดกับกฎหมาย ขัดกับ พ.ร.บ.อุ้มหาย ในเรื่องของการกระทำใดๆ ที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในมาตรา 6 ซึ่ง สว. ท่านนั้น ต้องไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม เมื่อถามอีกว่า มองว่าเป็นภาพสะท้อนรวมของ สว. หรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า เป็นความเห็นของคนๆ เดียว แต่เมื่อวานภาพที่ออกมาก็เหมือนว่ามี สว. หลายคนยืนอยู่ข้างหลัง สังคมอาจมองว่าเป็นการสนับสนุน ซึ่งตนก็เคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่อยากจะบอกว่าการเสนอเรื่องแบบนี้ในพื้นที่สาธารณะ ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการวิพากษ์วิจารณ์ หรืออาจเป็นแนวทางที่ทำให้การฆ่าตัดตอนเกิดขึ้นอีกหรือไม่
...
“การประหารชีวิตไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ต้องมีคำพิพากษาจากศาล และมีพยานหลักฐาน การกระทำผิดต้องเป็นโทษรุนแรง การพูดแบบนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเรารับได้ และที่พูดก็คือการขัดมาตรา 6 ใน พ.ร.บ.อุ้มหาย ในเรื่องการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากมีการถ่ายทอดสด แต่คิดว่า สว. ท่านนั้นพูดเหมือนปากพาไป หรืออะไรไม่ทราบ” นางอังคณา กล่าว
“สว.อังคณา” ค้านส่ง “อุยกูร์” กลับจีน
นางอังคณา ยังกล่าวถุงกรณีทางการไทยจะส่งนักโทษชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ว่า หลายฝ่ายกังวลว่าเขาอาจจะเผชิญอันตรายถ้าหากส่งกลับ ถ้าจำกันได้เมื่อปี 2558 ประเทศไทยเองก็เคยส่งชาวอุยกูร์ 109 คนกลับประเทศจีนมาแล้ว ซึ่งในวันนี้ ญาติพี่น้องของเขายังยืนยันว่าไม่ทราบชะตากรรมคนที่ถูกส่งกลับ เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) กมธ.การพัฒนาการเมือง วุฒิสภาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาร่วมให้ข้อมูล และ กมธ.ทำหนังสือถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) 3 ฉบับ เพื่อขอเข้าเยี่ยมชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ เพราะทราบว่ามีคนกำลังอดอาหารประท้วง แต่ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม ระบุเหตุผลว่า วุฒิสภาเกี่ยวข้องกับการเมือง เราจึงได้ชี้แจงว่า วุฒิสภาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง กมธ. ก็ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว กมธ.ในฐานะที่มีอิสระควรจะได้เข้าเยี่ยมคนที่อาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ปูด สตม.ไม่ให้เข้าเยี่ยม
นางอังคณา กล่าวอีกว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งว่ามีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 39 คน อยู่ที่โรงพยาบาล 1 คน เป็นผู้ป่วยหนักติดเตียงและมีแผลกดทับ ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตด้วย และมีคนหนึ่งที่อดอาหารประท้วง กมธ. เรามีความห่วงใย เนื่องจากผู้กักขังอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการที่จะดูแลเรื่องอาหารในระยะเวลานาน การที่อาจจะมาเริ่มทานอาหารใหม่ อาจจะส่งผลต่อสุขภาพเหมือนกรณีของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ซึ่ง กมธ.ได้มีการแนะนำให้กาชาดระหว่างประเทศเข้าเยี่ยมและให้คำแนะนำในเรื่องของการส่งกลับ
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สมช.และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยจะไม่ละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ รับประกันว่าจะไม่มีการผลักดันผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงกลับไปเผชิญอันตราย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทางผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติได้มีหนังสือถึงประเทศไทย กังวลว่าประเทศไทยจะส่งกลับ โดย กมธ. ต้องขอขอบคุณสำหรับการยืนยันนี้ ดังนั้นการเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้าไปเยี่ยมจะถือเป็นการยืนยันว่า ไทยปฏิบัติตามหลักสากล แม้ว่าคนกลุ่มนี้อาจจะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด แต่ถ้าหากว่าเชื่อว่าเขากลับประเทศต้นทางแล้วจะได้รับอันตราย ประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะส่งกลับได้ ไม่ว่ากรณีใด สิ่งหนึ่งที่เรากังวล คือการไม่อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้าเยี่ยม ซึ่งในรายงานของผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศไทยตรวจสอบศพผู้เสียชีวิตให้เป็นไปตามหลักสากล สภาพห้องกับแย่กว่าเรือนจำมาก กมธ.จะศึกษาในเรื่องการกักตัวผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในห้องกัก เพื่อมีข้อเสนอแนะและข้อสังเกตให้รัฐบาลต่อไป” นางอังคณา กล่าว และว่า ตนหวังว่า กมธ.จะได้พูดคุยกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ดูแลเรื่องความมั่นคง เรายินดีที่จะไปพบและหารือ เพราะเราก็ยืนยันว่าในฐานะวุฒิสมาชิก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง