การเปิดอบรมหลักสูตรต่างๆ ของหน่วยราชการ องค์กรภาครัฐ องค์กรอิสระ องค์กรร่วมภาครัฐและเอกชน ที่แต่ละองค์กรจัดตั้งขึ้นมา โดยส่วนใหญ่มีเป้าหมายหลักก็เพื่อให้สังคมได้เห็นความสำคัญในภารกิจหน้าที่ขององค์กรนั้นๆ และเป็นการประสานทุกภาคส่วนเพื่อให้ภารกิจหน้าที่ขององค์กรทำงานได้มีประสิทธิภาพ

อาทิ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ต่างก็เปิดหลักสูตรให้ข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง เข้าร่วมอบรม

แม้แต่ละหลักสูตรมีค่าใช้จ่ายหลักแสนหลักล้านบาท แต่ก็มีผู้ขวนขวายที่จะมาร่วมอบรมหลักสูตรเหล่านี้กันอย่างคึกคัก ทำให้บางคนถึงขั้นต้องใช้เส้นสายเพื่อให้ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร เพราะนอกจากความรู้จากการอบรมแล้ว สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมุ่งหวังสร้างคอนเนกชันกับเพื่อนร่วมรุ่นเพื่อประโยชน์ต่อกิจการงานของตนเอง

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ กรณีนายบุญเขตร์  พุ่มทิพย์  อธิบดี ผู้พิพากษา ศาลภาษีอากรกลาง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา กรรมการบริหารศาลยุติธรรม และนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการตุลาการ ทำบันทึกถึงประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการบริหารศาลยุติธรรมและประธานกรรมการตุลาการ

เพื่อขอให้ยกเลิกหลักสูตร บ.ย.ส. และกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรม วปอ.และ วตท. หรือหลักสูตรอื่นลักษณะเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรอบรมต่างๆไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดแก่การปฏิบัติงานของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งยังอาจนำไปสู่การผิดศีล ผิดวินัยผู้พิพากษา ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์

...

ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ การใช้งบประมาณเพื่อจัดให้มีหลักสูตร บ.ย.ส. ยังเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ใดๆแก่ประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุดหลักสูตรนี้ยังทำให้ความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อศาลยุติธรรมลดลง

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้แม้เป็นมุมมองของผู้พิพากษาบางท่าน แต่ก็ถือว่ามีเหตุมีผลควรที่ผู้บริหารฝ่ายตุลาการต้องพิจารณา เพราะผู้พิพากษาต้องตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม ปมคอนเนกชันอบรมหลักสูตรจะเป็นผลดีหรือมีผลร้าย กระทบต่อการผดุงความยุติธรรมหรือไม่ ได้คุ้มเสียหรือเปล่า ต้องไตร่ตรองกันให้ลึกซึ้ง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม