“จิราพร” ให้ตั้ง คกก.ล้อมคอกกันซ้ำรอย “ออปโป้-เรียลมี” ติดตั้งแอปพลิเคชันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน แก้ปัญหาให้ครบทุกมิติ จ่อเอาผิดหากพบปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยเกิน 15%
วันที่ 15 มกราคม 2568 น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกรณีโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และยี่ห้อ Realme ซึ่งมีติดตั้งแอปพลิเคชันเงินกู้มาจากโรงงานผลิต ว่า ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหาข้อสรุปข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้น ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีการเชิญทั้ง 2 บริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเมื่อวันที่ 13 และ 14 มกราคมที่ผ่านมา
น.ส.จิราพร กล่าวว่า เบื้องต้นมีความเห็นว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้ครบทุกมิติ ตั้งแต่การตรวจสอบการติดตั้งแอปพลิเคชันโดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้ยินยอม การหาเจ้าภาพจะจัดทำกฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่และป้องกันเชิงรุก ไม่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเท่าที่ประมวลผลกันเรายังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใดไปบังคับให้ถอนแอปพลิเคชันออกได้ทันที เป็นการขอความร่วมมือจากบริษัททั้งสองแห่ง ในส่วนการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้แต่ กสทช. ก็ไม่มีกฎหมายใดไปตรวจแอปพลิเคชันที่ติดมากับมือถือได้ มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะฮาร์ดแวร์ และหน่วยงานอื่นๆ ก็ไม่มีกฎหมายเข้ามาตรวจสอบเชิงรุกประเด็นนี้ได้
...
สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ประสานบริษัทมือถือเพื่อถอนแอปพลิเคชันนั้นออก ซึ่งทั้งสองบริษัทจะแจ้งผลในวันที่ 16 มกราคม 2568 จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งดูแลกฎหมายอนุญาตการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ ในกรณีที่แอปพลิเคชันที่ติดตั้งผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และมีประชาชนกู้เงินและถูกคิดดอกเบี้ยเกิน 15% จะถือว่ามีความผิด ซึ่ง ธปท. จะเป็นเจ้าภาพคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ โดยจะนำตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันตรวจแอปพลิเคชันในเชิงรุก
“เบื้องต้นที่ตรวจสอบพบว่า แอปฯ Fineasy เป็นแพลตฟอร์มที่โฆษณาแอปฯ เงินกู้ ไม่ได้ปล่อยกู้โดยตรง แต่มีบริษัทปล่อยกู้มาโฆษณา ส่วนแอปฯ สินเชื่อความสุข เป็นแอปฯ ปล่อยกู้เลย ไม่ได้ขออนุญาตจาก ธปท. จะให้ผู้เสียหายมาให้ข้อมูล หากปล่อยกู้เกิน 15% ก็ผิดกฎหมาย จะประสานตำรวจดำเนินการต่อ และติดตั้งแอปฯ โดยไม่ได้รับความยินยอม ถือว่าทางบริษัทผู้จำหน่ายมือถือมีส่วนสนับสนุนกระทำความผิดเช่นกัน ก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับเป็นหลักล้านบาท”
น.ส.จิราพร ระบุในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบสามารถมาร้องเรียนกับ สคบ. ที่จะช่วยดูแลความเสียหายทางแพ่งให้เพื่อประสานดำเนินคดีต่อไป และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ก็พร้อมรับเรื่องที่ประชาชนได้ร้องเรียนจากสภาคุ้มครองผู้บริโภค และดูการคุ้มครองทางอาญาต่อไปด้วย.