สภาผู้แทนราษฎร ลงมติวาระ 3 เอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.สุราชุมชน แล้ว “ชนินทร์” ประธาน กมธ. ชี้ กฎหมายใหม่สอดรับนโยบายรัฐบาล ลดการผูกขาด-สร้างอาชีพ-สร้างรายได้ ย้ำ ไม่ใช่สุราเสรี
เมื่อเวลา 11.43 น. วันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการพิจารณาในวาระที่สอง ซึ่งจะพิจารณาโดยเริ่มตั้งแต่ชื่อร่างพระราชบัญญัติ คำปรารภ และพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราจนถึงร่างมาตรา 7 โดยมี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม
ทั้งนี้ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า สาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือการเพิ่มเติมความในมาตรา 153 เพื่อกำหนดกรอบในการออกกฎกระทรวง เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ให้เปิดกว้างมากขึ้น ภายใต้ 2 ประเด็นหลัก คือ
...
1. ต้องสนับสนุนให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกร หรือผู้ประกอบการรายย่อย สามารถขอรับใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าได้ โดยไม่ใช้หลักเกณฑ์ที่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระเกินสมควร
2. ต้องสนับสนุนการใช้สินค้าเกษตรในประเทศมาผลิตหรือนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตสุราทุกประเภท
ทั้งนี้ ยังดำรงในหลักการเดิมว่า การผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสุราไว้ในครอบครอง ไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ใด ยังคงต้องมีการขออนุญาต เพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับทราบและสามารถควบคุมผลกระทบจากการลักลอบผลิตอย่างผิดกฎหมายได้ ซึ่งไม่ใช่ “สุราเสรี” ที่เปิดให้ทุกคนผลิตสุราโดยขาดการควบคุม ซึ่งแตกต่างจากร่างสุราก้าวหน้าของพรรคประชาชน ที่สภาผู้แทนราษฎรเคยมีมติไม่รับหลักการในวาระ 1 เพราะมีหลักการที่จะให้การขออนุญาตผลิตสุราต้องทำเมื่อผลิตเพื่อการค้าเท่านั้น
นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า การแก้ไขกฎหมายสุราชุมชนในครั้งนี้ จะส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยประกาศไว้ โดยจะสร้างประโยชน์ต่อเนื่อง 4 เรื่องคือ
1. ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ และส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการรายย่อย ให้ประชาชนที่อยากประกอบอาชีพอย่างถูกต้อง มีช่องทางได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย
2. ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในประเทศ ให้เกษตรกรมีโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
3. เพิ่มการจัดเก็บรายได้ทางภาษีแก่ภาครัฐ จากการนำสินค้าที่ผลิตแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้าสู่ระบบ และโอกาสจากการต่อยอดผลิตภัณฑ์สุราเป็นสินค้าส่งออกมากขึ้น
4. ส่งเสริมให้วัฒนธรรมสุราชุมชน เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ ที่จะสร้างการรับรู้และยอมรับของชาวต่างชาติ ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอาหารต่อไป
นายชนินทร์ กล่าวในช่วงท้ายว่า “ผมต้องขอบคุณกรรมาธิการทุกท่านจากทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ร่วมกันผลักดันการแก้กฎหมายสุราชุมชนนี้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนและดำเนินการปรับปรุงกฎกระทรวงบางส่วนคู่ขนานพร้อมกัน เพื่อให้การแก้กฎหมายในครั้งนี้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด”
ด้าน นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย กล่าวว่า ความจริงแล้วพวกเราไม่จำเป็นต้องมานั่งอยู่ตรงนี้ เพราะสิ่งที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของวงการสุราไทยจริงๆ อยู่ที่กฎกระทรวง ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดี แต่เหตุที่ติดขัดมาจากการใช้อำนาจทุนเหนือการเมือง การแข็งตึงของรัฐราชการรวมศูนย์ และภาคการเมืองไม่เข้มแข็ง รัฐบาลไม่เด็ดขาด
“ผมว่าวันนี้เราต้องเข้มแข็งมากขึ้น ใช้อำนาจบริหารที่เราได้ฉันทานุมัติจากประชาชนเพื่อมาเปลี่ยนแปลง เหตุใดพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลถึงโดนซ้าย โดนขวา โดนใน โดนนอก ตลอดเวลา ก็หวังว่าวันนี้จะพาไปได้ และบังคับใช้กฎกระทรวงได้โดยไว ผมยืนยันว่าเราไม่จำเป็นต้องมาอยู่ตรงนี้ ถ้ารัฐบาลเอาจริง เสร็จไปตั้งแต่เดือนแรกแล้ว”
โดยหลังเปิดให้มีการอภิปรายจนเสร็จสิ้นและลงมติรายมาตราแล้ว จึงเข้าสู่การลงมติในวาระ 3 หรือการลงมติร่าง พ.ร.บ.ทั้งฉบับ ในเวลา 13.18 น. ว่าที่ประชุมจะเห็นชอบหรือไม่ ผลปรากฏว่า เห็นชอบ 415 (414+1) เสียง ไม่เห็นชอบ 0 งดออกเสียง 0 ไม่ลงคะแนนเสียง 5 สรุปว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ส่วนการลงมติว่าจะเห็นชอบกับข้อสังเกตของกรรมาธิการหรือไม่ ผลปรากฏว่า เห็นด้วย 411 (410+1) เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 0 ไม่ลงคะแนนเสียง 6 เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ และจบการพิจารณาในเวลา 13.24 น.