“จุลพันธ์” แจง ธปท. คุย “พิชัย” อยู่ ลั่นจีดีพี 2.5 รับไม่ได้ ต้องทำให้ได้ 5% รัฐบาลดันกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ บอกทุนจดทะเบียนสูงเพราะต้องการคุณภาพ ยัน ไม่มีเกี๊ยะเซียะ เชื่อ ไม่มีใครกล้าทำ
วันที่ 14 มกราคม 2568 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ที่ท้องสนามหลวง ถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีทักษิณทอล์ก หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ อยากให้ 3 เสาหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดคุยกัน เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศ แต่ ธปท. ไม่ยอมคุยกับใคร เป็นการส่งสัญญาณว่าใครไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ นายจุลพันธ์ ระบุว่า ธปท. มีการพูดคุยอยู่กับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่ง ธปท. เป็นส่วนงานหนึ่งของรัฐ มีการหารือเรื่องของกรอบเงินเฟ้อ ที่ผ่านมาหลุดเป้าอยู่ที่ 0.4 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็รับทราบ และมีความเห็นว่าในอนาคตจะต้องมีการกระชับเป้าหมายให้เป็นไปตามที่ได้พูดคุยกันไว้ 1-3% เนื่องจากมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวถามต่อ แต่นายทักษิณ ใช้คำว่า “เขาไม่คุยกับเพื่อน” นายจุลพันธ์ ตอบว่า ตนไม่ทราบ ตนฟังอยู่แต่แสดงความคิดเห็นไม่ได้ และหน้าที่ของตนไม่ได้เป็นผู้พูดคุยกับ ธปท. แต่เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการ เท่าที่ทราบก็น่าจะยังมีการสื่อสารกันอยู่ เมื่อถามอีกว่าการที่ นายทักษิณ ออกมาพูดในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การตบให้เข้าร่องเข้ารอยใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ ปฏิเสธโดยส่ายศีรษะ
ทางด้านคำถามว่า นายทักษิณ ระบุปี 2569 สัญญาณทางเศรษฐกิจจะเคลื่อนไหวมากขึ้น และในปี 2570 ประชาชนจะล้วงกระเป๋าแล้วเจอเงินมากขึ้น รัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่ นายจุลพันธ์ เผยว่า เราก็คาดหวังและพยายามอย่างเต็มที่ สิ่งที่เราทำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีเศรษฐกิจปากท้องที่ดีขึ้น แต่หากถามว่างานยากหรือไม่ ยอมรับว่ายาก แต่เราคงพอใจกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง 2.5% ไม่ได้ เราเป็นตัวแทนประชาชน รับโจทย์มาจากประชาชน ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประชาชนอยู่ได้ จะบอกว่าศักยภาพของไทยอยู่ที่ 2.5% พอแล้ว เป็นรัฐบาลพูดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ และตนเชื่อว่าปี 2568 การเติบโตทางเศรษฐกิจจะแตะที่ 3% แน่นอน ปีหน้าปีต่อๆ ไป โจทย์สุดท้ายจะต้องโตอยู่ที่ 5% ตามที่เคยพูดไว้อย่างแน่นอน ตนพูดไว้ตั้งนานแล้ว
...
เมื่อถามว่าหากการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ 3% จะใช้อะไรเป็นตัวการันตี นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ใช้อะไรการันตีไม่ได้ จะให้ตนเอาชีวิตหรือ ตนคงไม่พูดอย่างนั้น เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด หากตนไม่ตั้งเป้าไว้สูงก็คงไม่มีวันเดินไปถึง มองพระจันทร์ก็ยังคว้าดาวได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเดินไปให้ไกลที่สุด ขณะที่คำถามว่านายกรัฐมนตรีเรียกตรวจการบ้านแล้วหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรียกตรวจมาตลอดอยู่แล้ว ตนก็มีการรายงานการทำงานอยู่ตลอดเวลา นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตรวจข้อสอบ ตนมีหน้าที่ส่งการบ้าน ส่วนคิดว่าผ่านหรือไม่ตนตอบไม่ได้
เร่งดันกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ส่วนกรณีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า สถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นายจุลพันธ์ เผยว่า ตนยังไม่ได้ยินเลย ความเห็นของสภาพัฒน์ ที่ส่งมาที่ ครม. ไม่ได้มีประเด็นนี้ ถ้าตนจำไม่ผิดเขาให้ดูเรื่องผลกระทบ เพราะกฎหมายนี้ต้องออกมาควบคุม กำกับ ดูแล พร้อมกับเยียวยา รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการพนันอาจไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง แต่การศึกษาของกระทรวงการคลัง เกิดผลกระทบใน 2 ช่วง คือ ช่วงก่อสร้าง GDP โตตกปีละ 0.2% ซึ่งไม่รวมการพนัน และการที่จะนำมาคำนวณเป็นจีดีพี ต้องมีการผลิตเกิดขึ้นในหลายส่วน ยืนยันว่ามันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว เพราะมูลค่ามันกว่าแสนล้าน ถ้าเรามีมากกว่า 1 จุด มันก็จะมีการเติบโตมากกว่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเพียงการประเมินเรื่องของการลงทุน ยังไม่ใช่ผลพลอยได้ เพราะเป็นโครงการที่มนุษย์สร้างขึ้น ต้องมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมายที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนรอบพื้นที่ และสามารถเก็บรายได้เข้ารัฐได้
ผู้สื่อข่าวถามอีก ได้วางไทม์ไลน์ไว้หรือไม่ว่าร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ นายจุลพันธ์ ระบุว่า เร็วที่สุด รัฐบาลชุดนี้ทำงานเร็วอยู่แล้ว มันมีกระบวนการที่อยู่นอกเหนือมือของพวกตน แต่เราทราบว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ จึงเชื่อว่าไม่มีใครชักช้า ซึ่งขณะนี้อยู่ในมือของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าไม่นาน เพราะความล่าช้าเป็นต้นทุนทางโอกาส และเรื่องนี้เป็นประโยชน์ ไม่เหมือนกับที่หลายสำนักข่าวไปบอกว่าเป็นกาสิโน และเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ มันก็ทำให้เกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องออกกฎหมายเฉพาะ แต่ก็ยอมรับว่าถ้าจะให้บังคับใช้ได้ไตรมาส 3 ก็ตึงมาก ส่วนไตรมาส 4 ก็ตอบไม่ได้จริงๆ
สำหรับบริษัทที่จะลงทุน จะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทย แต่ไม่ได้จำกัดเรื่องของสัญชาติ เพราะจะมีการเขียนกฎหมาย ให้ผู้ลงทุนต้องมีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการคัดกรองให้รู้ว่าคนที่เข้ามาเป็นเบอร์ใหญ่และเป็นนักลงทุนจริง เพราะการทำโปรเจกต์ขนาดนี้ต้องเป็นคนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ มีประสบการณ์ เคยทำธุรกิจประเภทนี้มาก่อน และยืนยันตนยังไม่เคยพบกับใครตามที่เป็นข่าว แล้วก็ไม่ต้องมีใครมาพบด้วย เพราะตนมีหน้าที่ทำกฎหมาย แต่เรื่องสถานที่ ใครทำอะไรที่ไหน จะมีคณะกรรมการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะมีการเขียนกฎหมายให้รอบคอบและรัดกุม โปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของตนที่จะทำกฎหมายให้คลีนที่สุด ใครจะได้ทำอะไรที่ไหน ต้องเสนอเข้ามาแข่งขันกัน และรัฐก็จะได้ประโยชน์จากมิติต่างๆ ทั้งการจัดเก็บภาษี มิติสังคมและสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นมา อะไรที่จะว้าวก็ต้องไปวัดกันข้างหน้า
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนที่ภาคเอกชนมีความสนใจเป็นอย่างมากก็ต้องขอขอบคุณ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพ ทำให้ทั้งในและต่างประเทศพร้อมโดดมาลงทุน และยืนยันว่าไม่มีเรื่องของเส้นสาย หรือเกี๊ยะเซียะอะไรในรัฐบาล เพราะในรัฐบาลไม่มีใครกล้าทำ เมื่อถามในตอนท้ายว่าภาคเอกชนกังวลเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม นายจุลพันธ์ ตอบว่า อยู่ที่การร่างกฎหมายและกลไก การตรวจสอบมีเยอะแยะ รวมทั้งนักร้อง จึงเชื่อว่าไม่มีใครกล้าทำ.