“ชนินทร์” สส.เพื่อไทย แจงโต้นักวิชาการอสังหาริมทรัพย์ ชี้ “บ้านเพื่อคนไทย” รัฐบาลมุ่งสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย - เด็กจบใหม่ให้เข้าถึงโอกาสเพิ่มขึ้น
เมื่อเวลา 14.44 น. วันที่ 9 มกราคม 2568 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X (ทวิตเตอร์) เกี่ยวกับข้อคิดเห็นของ นายโสภณ พรโชคชัย นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ การประเมินค่าทรัพย์สิน การพัฒนาการเมือง เกี่ยวกับ “บ้านเพื่อคนไทย” ว่า ความเห็นของ นายโสภณ เป็นหนึ่งในมุมมองที่รัฐต้องรับฟัง ขณะที่ตนเองอยากชี้อีกมุมถึงความจำเป็นของโครงการบ้านเพื่อคนไทย ดังนี้ว่า
1. รัฐบาลปัจจุบันมีการส่งเสริมการขายอสังหาริมทรัพย์ที่คงค้างมาโดยตลอด ผ่านมาตรการการลดค่าธรรมเนียม, การให้สินเชื่อบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนการส่งเสริมภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในที่อยู่อาศัยราคาต่ำ
2. แต่ด้วยสภาพราคาตลาดที่ดินที่ดีดตัว ทำให้เอกชนโดยทั่วไป มีต้นทุนที่ดินที่สูงขึ้นตามราคาตลาด ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นด้วย ราคาที่สูงทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้จะมีมาตรการจากภาครัฐก็ตาม ดังเช่นข้อมูลสินค้าคงค้าง ที่มีราคาค่อนข้างสูง เริ่มต้นที่ 1.5 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นการซื้อโดยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ ต้องมียอดผ่อนชำระราว 8,000-12,000 บาท/เดือน เหมาะกับผู้มีรายได้ 30,000+ บาท/เดือน
3. กลุ่มลูกค้าที่เป็น first jobber หรือผู้เริ่มก่อร่างสร้างตัว ในปัจจุบันเข้าไม่ถึงการเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองอย่างแน่นอน และเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายค่าครองชีพจากที่อยู่อาศัยและค่าเดินทางค่อนข้างสูง จนไม่เหลือเงินเก็บ ไม่เหลือเงินใช้เพื่อต่อยอดการเรียนรู้หรือการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ตลอดจนมีอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อที่สูงมาก
...
4. การส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้ตั้งตัวได้เร็ว ผ่านการ “ลดภาระการตั้งตัว” ทั้งการส่งเสริมที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำ และค่าเดินทางราคาถูก จะส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
“ผมมองว่าโครงการบ้านเพื่อคนไทย เป็นสินค้าที่ต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในตลาด จึงไม่ใช่การที่รัฐมาแข่งขันกับเอกชน แต่เป็นการเข้ามาสนับสนุนกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยมีโอกาสให้เข้าถึงโอกาสเพิ่มขึ้น และเนื่องด้วยที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยพื้นฐาน จึงเป็นเรื่องสมควรที่รัฐจะต้องมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ไม่ต่างกันกับการผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มุ่งหมายให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้ได้ ดังนั้น ที่อยู่อาศัยที่คุณโสภณกล่าวถึง จึงเป็นคนละกลุ่มกับที่อยู่อาศัยที่ดี ราคาที่ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้อย่างบ้านเพื่อคนไทย”