“ภูมิธรรม” ระบุ ผบ.นรด. ผุดไอเดีย จ่าย จบ แลกไม่เกณฑ์ทหาร แค่ความเห็นส่วนตัว จะเป็นไปได้หรือไม่ยังตอบไม่ได้ ต้องรอฟังความเห็นส่วนรวมด้วย ด้าน ผบ.นรด. เผยล่าสุด 7 มกราคม 2568 มีผู้สมัครใจเป็นทหารเกณฑ์มากกว่าปีที่แล้วกว่า 1,400 คน “วิโรจน์” กระโดดค้านเอาคอร์รัปชันมาอยู่บนดินไม่ได้

วันที่ 9 มกราคม 2568 นายภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) เสนอไอเดียคนที่ไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ก็ให้จ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อมาชดเชยในเรื่องค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่สมัครใจ แลกกับไม่ต้องมาตรวจเลือก ว่า เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ซึ่งขณะนี้กระทรวงกลาโหมได้เปิดให้แสดงความคิดเห็นและหาทางออกว่าจะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไร นี่เป็นเพียงอีกหนึ่งความคิดเห็น ซึ่งวันนี้เราบอกแล้วว่าในกระบวนการนี้อยากให้เปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนผ่านก็คือทำอย่างไรที่จะมีขั้นตอนและมีกระบวนการ

ตนเองก็ได้บอกผู้นำเหล่าทัพไปว่าอยากให้มีจุดเริ่มต้นและมีพัฒนาการไปถึงจุดสุดท้ายที่เป็นความต้องการและความคาดหวังของสังคม วันนี้ได้ทดลองทำหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่จะให้มีการโยกย้ายให้ทหารเรือและทหารอากาศเป็นสัสดีในการที่จะคัดเลือกทหารด้วย และพยายามที่จะให้ทหารเกณฑ์เลือกจากหมู่บ้านของเขา และถ้าหากใครอาสาก็ต้องมีสิทธิ์ที่จะเลือกเหล่า เลือกจังหวัดที่จะไปประจำการได้เอง ก็จะเป็นแรงจูงใจให้มาสู่การสมัครใจมากขึ้น แต่หากไม่สมัครใจก็ต้องมาดูว่าจะหาทางออกอย่างไร ส่วนหนึ่งก็ให้มีกำลังร่วมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทำหลักสูตรว่าหากเข้ามาอยู่แล้วกองทัพจะให้ความรู้และทักษะในการไปใช้ชีวิตข้างนอกได้หรือไม่

...

ซึ่งตอนนี้กำลังทดลองทำอยู่ ข้อเสนอนี้ก็คงรับไว้ จะได้เอาเรื่องนี้ไปพิจารณาและคุยกัน ขอไปทบทวนดูรายละเอียด เรื่องนี้ก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจแต่คงต้องระมัดระวัง เมื่อมีด้านดีก็ต้องมีเสีย เพราะคนที่มีเงินก็ไม่ต้องเป็นทหาร จึงต้องไปพิจารณาให้รอบคอบ ถือเป็นอีกหนึ่งความเห็นที่ทางกระทรวงกลาโหมกำลังรวบรวมอยู่ ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ ตอบได้ยาก เพราะกำลังดูว่าตอนนี้สังคมกำลังอยากเห็นการสมัครใจเป็นทหาร ต้องคำนึงอยู่บนพื้นฐานและก็ต้องการให้กองทัพมีศักยภาพที่พร้อมจะป้องกันประเทศได้ จึงได้บอกผู้นำเหล่าทัพไปว่าให้เอาขั้นต่ำที่มีกำลังพอเพียงที่จะป้องกันประเทศ ดูจากตรงนั้นว่าเหลือเท่าไหร่ก็ค่อยมาว่ากัน

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของโลก บางประเทศก็ทำได้บ้างแล้ว เช่น ประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ประเทศไทยกำลังเรียนรู้จากตรงนั้น อย่างไรก็ต้องสัมพันธ์กับอีกหลายเรื่อง จึงจะต้องใช้ความรอบคอบ เมื่อประกาศก็ควรจะทำได้จริง เชื่อว่าขณะนี้ MindSet ของกองทัพทุกเหล่าทุกคนเข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งนี้ รวมถึงเรื่องที่มีการทำร้ายทหารจนถึงเสียชีวิต ทุกคนก็บอกแล้วว่าจัดการอย่างเด็ดขาด

ด้าน พล.ท.ทวีพูล เปิดเผยความต้องการทหารกองประจำการประจำปี 2568 ว่าขณะนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง เพราะต้องรอสรุปยอดทหารออนไลน์ให้เสร็จสิ้นก่อน แต่จากข้อมูลล่าสุดเมื่อ 7 มกราคม 2568 พบว่ามีจำนวนผู้สมัครมากกว่าปีที่แล้วกว่า 1,400 คน ซึ่งยอดสมัครก็ยังไม่ใช่ยอดสุทธิ ต้องผ่านการคัดเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติ และขั้นตอนสุดท้ายคือมารายงานตัวก่อน ดังนั้นคงไม่สามารถเคาะยอด 8 หมื่นกว่านาย เท่าปีก่อนที่คาดการณ์กันไว้ได้

พล.ท.ทวีพูล เผยต่อไป ยังไม่สามารถบอกได้ว่าโครงการสมัครใจเป็นทหารจะมีคนสนใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ ยกเว้นมีปัจจัยที่จะสร้างแรงจูงใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งหากเพิ่มขึ้นก็ต้องเป็นภาระด้านงบประมาณ และจะใกล้ชนเพดานเงินเดือนทหารชั้นประทวน ในความคิดเห็นส่วนตัวคือ ใครไม่เป็นก็จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อมาชดเชยในเรื่องค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่สมัครใจเข้ามาได้ แต่เรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่เสนอเท่านั้น เพราะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย เพราะบางคนก็มองว่าเป็นการแบ่งชนชั้นหรือไม่ แต่จุดนี้ก็จะแก้ไขปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจได้ ก็ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดต่อไป

“วิโรจน์” ค้านเอาคอร์รัปชันมาไว้บนดินไม่ได้

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวว่า เป็นแนวความคิดที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจ่ายเงินเพื่อไม่ต้องเกณฑ์ทหารมีมาโดยตลอดในสังคมไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นการจะนำพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันแบบนี้ขึ้นมาอยู่บนดินให้ถูกต้องตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรทำ

อีกทั้งมองว่า พล.ท.ทวีพูล ยังติดอยู่ในกรอบเดิมๆ คือต้องการให้มีตัวเลขกำลังพลจากการเกณฑ์ทหารอยู่ที่ปีละ 90,000 นาย ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด ควรจะต้องมีการพิจารณาตามกรอบและบริบทของสังคมในขณะนั้นว่ามีความต้องการกำลังพลมากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยมีความเห็นว่าควรลดปริมาณทหารเกณฑ์ลงอย่างน้อย 50% เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจและบริบทของสังคมรวมถึงงบประมาณที่มี

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาคนไม่อยากเป็นทหารด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชนว่า เข้าเป็นทหารแล้วจะไม่ถูกรังแก ทำร้าย จนถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอย่างที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ อีกทั้งต้องทำให้มั่นใจว่าหากมีผู้บังคับบัญชาหรือใครที่กระทำความผิด จะต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาคนทำผิดไม่เคยถูกลงโทษเลย.