“กัณวีร์” แฉ กดปราบข้ามชาติเกิดบ่อยครั้ง บี้ “นายกฯ อิ๊งค์” อย่าตกเป็นเครื่องมือประเทศเพื่อนบ้าน “โรม” ลั่น รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้เรื่อง “ลิม กิมยา” เงียบ ควรขยายผลถึงผู้อยู่เบื้องหลัง

วันที่ 8 มกราคม 2568 นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวที่รัฐสภา ถึงกรณีคนร้ายก่อเหตุยิง นายลิม กิมยา ชาวกัมพูชา สัญชาติฝรั่งเศส นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอดีต สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ชาวกัมพูชา ที่ย่านบางลำภู กทม. เมื่อวานนี้ (7 มกราคม 2568) ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่าการกดปราบข้ามชาติ และไม่ใช่กรณีแรก เป็นการที่ผู้ลี้ภัยหนีการประหัตประหารจากประเทศหนึ่งมาอีกประเทศหนึ่ง และมีการร่วมมือกันในทางลับ เหมือนกรณีของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวในกัมพูชา ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้วทางการไทยได้ส่งตัวอดีตนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชากลับไปกัมพูชา สะท้อนให้เห็นความหย่อนยานในกระบวนการกฎหมายของไทย

เมื่อถามว่ามองเหตุการณ์นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ นายกัณวีร์ กล่าวว่า แน่นอนเพราะตนทำเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝั่งกัมพูชามาเสียชีวิตในภาคอีสานของไทยอย่างต่อเนื่อง จึงสงสัยว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องการกดปราบข้ามชาติอย่างจริงจัง เพราะเราต้องไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

...

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงมาตรการการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หรือผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไม่ใช่การผลักดันกลับประเทศ สามารถยิงได้เลยใช่หรือไม่ นายกัณวีร์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ได้เพราะทางกฎหมายและประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศ ที่เรายึดมั่นอยู่แล้วเป็นหลักการไม่ส่งกลับ โดยเฉพาะมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (พ.ร.บ.อุ้มหาย) ที่ระบุว่าไทยไม่สามารถผลักดันคนที่หนีการประหัตประหารกลับไปที่ประเทศต้นทางได้ แต่ที่ยิ่งเลวร้ายกว่าคือการปล่อยให้มีการประหัตประหารในไทย ซึ่งไทยผิดทั้งกฎหมายในประเทศและหลักการระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ยังบอกไม่ได้ว่าเหตุการณ์ยิงครั้งนี้เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ จะต้องสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใส จึงขอเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ว่า การคุ้มครองระหว่างประเทศโดยเฉพาะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ว่าแม้ประเทศไทยจะยังไม่ลงสัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่เรามีทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและในประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และต้องรับผิดชอบเพราะมีคนมาตายในประเทศไทย แต่ต้องขยายความให้ได้ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัยจริงหรือไม่ ซึ่งไทยต้องให้ความคุ้มครองคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าเขาจะสัญชาติอะไร เรื่องแบบนี้ต้องไม่เงียบอีกต่อไป

ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชาถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทย ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อุกอาจมาก แม้จะเกิดขึ้นกับคนไทยด้วยกันก็ถือว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกลางเมืองกรุง ทางตำรวจต้องให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจัง ถ้าหากดูจากเบื้องหลังของ สส.คนนี้ ถือเป็นอดีตนักการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันของกัมพูชา แต่ที่นี่ประเทศไทย เรามีกฎหมายและประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง เราจะไม่ยอมให้ประเทศไหนหรือใครมาปฏิบัติการฆ่าคนเพียงแค่เห็นต่างในเรื่องของชาติตัวเอง หวังว่าจะไม่มีเบื้องหลังแบบนั้นอีก

“ตอนนี้เรามีข้อมูลของคนที่ยิง ต้องตามจับและขยายผล ไม่ควรจบแค่มือปืน ควรขยายผลหาผู้อยู่เบื้องหลังว่าคือใคร และหวังว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบ ต้องสร้างความมั่นใจว่าใครหรือคนชาติไหนก็ตามที่อยู่ในประเทศไทยพวกเขาจะต้องปลอดภัย”