การประชุม ครม.วันอังคารมีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการฉบับใหม่ ห้ามนักเรียนเสพ “บุหรี่ไฟฟ้า” และ “บารากุไฟฟ้า” เพิ่มเติม โดยมีบทลงโทษนักเรียนที่เกี่ยวข้อง 4 ระดับคือ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับพฤติกรรม โดยรัฐมนตรีศึกษาฯจะลงนามประกาศใช้ทันที
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีศึกษาฯ เปิดเผยว่า กฎกระทรวงฉบับเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ครอบคลุมเรื่อง การซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยน เสพสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา บุหรี่ หรือยาเสพติดเท่านั้น จึงได้ปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเพิ่มสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
กฎกระทรวงใหม่ครอบคลุมตั้งแต่ การซื้อ จำหน่าย จ่ายแจก แลกเปลี่ยนให้ ส่งมอบ มีไว้เพื่อขาย เสพ บริโภค สูบ ครอบครองหรือกระทำการใดในลักษณะเดียวกันซึ่งสุรา เครื่องที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า บารากุ ตัวยาบารากุ น้ำยาสำหรับเติมบารากุไฟฟ้า ยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์อื่นใดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนนักศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับ กระทรวงพาณิชย์ ในการแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน เป็นพนักงานที่สามารถตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งผิดกฎหมายจากต่างประเทศได้
ผมขอชื่นชม ท่านรัฐมนตรีศึกษาฯ ที่รู้จักแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยให้ทันสมัย เป็นหน้าที่ที่รัฐมนตรีทุกกระทรวงต้องทำ เพราะประเทศไทยวันนี้มีกฎหมายที่ล้าสมัยมากกว่า 100,000 ฉบับ น่าจะเป็นประเทศที่มีกฎหมายล้าสมัยมากที่สุดในโลก ยังไม่นับกฎระเบียบที่ล้าสมัยอีกไม่รู้กี่แสนฉบับ สะท้อนถึงความเกียจคร้านของข้าราชการและรัฐบาล
...
บุหรี่ไฟฟ้า มีพิษภัยต่อผู้สูบโดยตรง และมีพิษภัยต่อคนรอบข้าง เช่นเดียวกับควันบุหรี่มือสอง เป็นสิ่งที่สังคมควรจะแสดงความรังเกียจต่อผู้สูบให้รู้สึก เพื่อปกป้องสุขภาพของตัวเอง คุณอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกสำนักนายกฯ เคยแถลงว่า มีการตรวจพบ “น้ำยาดองศพ” หรือ สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Fomaldehyde) อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า ปล่อยออกมาระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ และผู้ที่ได้รับละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า
จากข้อมูลพบว่า เยาวชนไทยอายุระหว่าง 6–30 ปี มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้า 18.6% เมื่อจำแนกเพศพบว่า เป็นเพศชาย 21.49% LGBTQ+ 19.73% และเพศหญิง 16.22% เมื่อสอบถามความรู้ความเข้าใจของเยาวชนก็พบว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เข้าใจว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วทำให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ 61.23% เข้าใจว่านิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย 51.19% เข้าใจว่าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน 26.58% เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย 23.28% เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย 12.53% และเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 50.2% ถือเป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก
จากผลการศึกษาวิจัยของ มหาวิทยาลัยมินเนโซตา สหรัฐฯ พบว่า สารฟอร์มาลดีไฮด์ ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็น สารก่อมะเร็ง (Carcinogen) โดยสารฟอร์มาลดีไฮด์สามารถแทรกซึมลึกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เสี่ยงเกิดมะเร็ง รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนังได้
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง มีโทษหนัก ผู้ขาย/ผู้ให้บริการโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท ผู้นำเข้า จำคุก 10 ปี ปรับ 5 เท่าของราคาสินค้า สูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ ปรับ 5 พันบาท ผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า จำคุก 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาสินค้า สส.ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรัฐสภา ถือว่าครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมายชัดเจน จนถึงวันนี้ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ แจ้งให้ตำรวจไปดำเนินคดีหรือยัง ถือเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายของรัฐสภา ถ้าไม่ดำเนินคดี.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม