เรื่องเล่าของ โอ่งเอียง และ กระบอกเงิน ลุ่มลึกแยบคาย คนจีนเล่าต่อๆกันมากว่าสองพันห้าร้อยปี

ลองอ่านกันดู

เช้าวันหนึ่ง ขงจื๊อ พาสานุศิษย์กลุ่มใหญ่ เดินทางไปถึงศาลเจ้าหลู่หวนกง แทนการมุ่งตรงไปไหว้พระพุทธรูปองค์ประธาน ขงจื๊อ กลับหยุดชะงัก สะดุดใจที่โอ่งใบหนึ่ง

โอ่งใบนี้ ไม่ได้ตั้งตรงหรือล้มคว่ำลง แต่กลับตั้ง แบบตะแคงไปตะแคงมา

คนเฝ้าศาล ยืนอยู่ใกล้ๆ ขงจื๊อถาม “เราจะเรียกภาชนะนี้ว่าอะไร?”

“คนแถวนี้ เขาเรียกกันว่า โอ่งเอียง” คนเฝ้าศาลตอบ

แท้จริงแล้ว จุดหมายในการเดินทางมาศาลหลู่หวนกง ของขงจื๊ออยู่ที่โอ่งเอียงใบนี้

ขงจื๊อพูดกับเหล่าสานุศิษย์ “อาจารย์เคยฟังเขาเล่ากันว่า โอ่งเอียงใบนี้ถ้าไม่ใส่น้ำจะตะแคงไปข้างหนึ่ง”

“แต่ถ้าเมื่อใด เทน้ำใส่ลงไปครึ่งโอ่ง โอ่งใบนี้ก็จะตั้งตรง แต่ถ้าเติมน้ำใส่จนเต็ม โอ่งนี้จะคว่ำลง”

โอ่งเอียงตรงหน้า คือบทเรียนล้ำค่า ขงจื๊อสั่งศิษย์ให้พิสูจน์

“ไปหาน้ำมาเทลงไป เราอยากดูกันใช่ไหม? ผลจะเป็นอย่างที่คนโบราณว่าหรือเปล่า?”

เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่โบราณว่า เมื่อน้ำถูกเทลงไปครึ่งโอ่ง โอ่งที่เอียงอยู่ก็ตั้งตรง และเมื่อน้ำถูกเทเติมลงไปจนเต็ม โอ่งก็คว่ำ น้ำในโอ่งก็ไหลนองพื้น

“เหตุผลในโลกนี้ ก็ล้วนแต่เป็นเช่นนี้ มิใช่หรือ?”

น้ำเสียงขงจื๊อสอนศิษย์ครั้งนี้ เปี่ยมด้วยความซาบซึ้ง

“คนที่มีความพึงพอใจในตัวเองมากจนเกินไป มักจะล้มคว่ำได้ง่ายๆ เยี่ยงโอ่งเอียงใบนี้”

หวนซูเต้าหยิน ผู้รู้สมัยราชวงศ์หมิง เล่าเรื่องนี้ไว้แล้วเกรงคนฟังจะเข้าใจไม่กระจ่าง จึงเล่าเรื่อง “กระบอกเงิน” ขยายความสำทับ

ในตอนแรกๆ กระบอกเงินจะว่างเปล่า ต่อๆมาเมื่อมีอีแปะใส่เพิ่มเข้าไปๆ ทีละอันสองอัน

...

จนถึงวันหนึ่ง มันก็จะเต็ม

ครั้นแล้ว เคราะห์กรรม ของกระบอกเงินก็จะตามมา

เมื่อกระบอกเงินเต็ม มันจะถูกผ่าออก มีใครที่ไหนบ้างที่ใส่เงินลงไปแล้ว จะไม่ผ่าเอาออกมาใช้

กระบอกใส่เงินเมื่อว่างอยู่ มันสามารถรักษาตัวตนของมันไว้ได้

คน? ก็ควรเป็นเช่นนั้น

เรื่องของโอ่งเอียง กับเรื่องของกระบอกเงิน เป็นตัวอย่างชัดเจนสอนให้คนควรเปิดใจให้กว้าง รับสรรพสิ่งอันสวยงามในโลกมนุษย์ได้ ด้วยความนอบน้อม

มีคนไม่น้อย ที่เมื่อโชคเข้าข้าง ปล่อยความเย่อหยิ่งทระนงหลงตน ทำแต่เรื่องเลวๆชั่วร้าย อับอายขายหน้าดินฟ้า

ผลที่เกิดตามมา เขาจึงเป็นเช่นโอ่งเอียง โอ่งคว่ำเมื่อน้ำเต็ม เป็นเช่นกระบอกเงินถูกผ่าเมื่อเงินเต็ม

ด้วยเหตุนี้! วิญญูชนจึงพร่ำสอนกันและกัน ดำรงตนอยู่อย่างไม่มีดีกว่ามี

อยู่อย่างพร่องดีกว่าอยู่อย่างเต็ม

ใครที่รักผู้นำคนใด จะคัดลอกเรื่องนี้บอกต่อ หรือจะใช้วิชาจดหมายลูกโซ่ ส่งต่อเจ็ดฉบับก็ได้ ไม่แน่หากกุศลดลใจ มีใครสักคนได้อ่านแล้ว ลดความกร่างได้บ้าง...ก็อาจเป็นคุณูปการมาถึงบ้านเมือง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม