ในที่สุดก็ยังไม่มีคำตอบว่าเหตุใด คนไทย 4 คนที่ถูกจับตัวจากเรือประมงที่เข้าไปในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเมียนมายังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังอย่างที่รัฐบาลไทยประกาศไว้ว่าจะเป็นช่วงวันฉลองเอกราชของเมียนมา 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการปล่อยตัวนักโทษ 5 พันกว่าราย มีทั้งชาวเมียนมา ชาวต่างชาติ รวมทั้งคนไทยในคดีอื่นๆ
ที่ผ่านมาการชี้แจงจากคนในรัฐบาล โดยเฉพาะนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม นอกจากบอกอะไรไม่ชัดเจน ยังไม่เป็นจริงอย่างที่พูด ตั้งแต่การจับกุมคนไทยเมื่อ 30 พ.ย.2567 ระบุว่าจะได้รับการปล่อยตัวโดยไว แต่สุดท้ายเมื่อถูกศาลประเทศเพื่อนบ้านสั่งจำคุก ก็ยังบอกว่าเป็นพิธีกรรมตามปกติ
จากนั้นนายภูมิธรรมยังยืนยันหลายครั้งว่าจะเร่งการช่วยเหลือด้วยการประสานงานของทางการรัฐบาล ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง จนกระทั่งเวลายืดยาวมา 1 เดือนกว่า จากช่วงปลายปีที่แล้วจนมาถึงต้นปีนี้ตามกำหนดที่ให้ไว้ล่าสุด แต่ชะตากรรมคนไทยก็ยังคงอยู่ในสถานะถูกจองจำคุมขังเช่นเดิม
ถึงแม้ว่าจะมีการให้ข้อมูลในเชิง ปลอบใจให้ความหวังว่า ขณะนี้คนไทยที่ถูกจับกุมคุมขังยังมีกำลังใจ และมีสุขภาพร่างกายดี เพียงแต่ต้องรอขั้นตอนในการปล่อยตัว แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ครอบครัวญาติพี่น้องของคนไทยที่ถูกจับกุมอยู่ในประเทศเมียนมาอยากรับรู้ เท่ากับการเห็นรัฐบาลเอาจริงเอาจังช่วยเหลือคนไทยให้ได้รับอิสรภาพมากกว่า
และแน่นอนก็จะยิ่งมีคำถามถึง ประสิทธิภาพการแก้ปัญหา และไม่วายย้อนไปในช่วงเกิดเหตุเมื่อปลายปีก่อน กับท่าทีไม่จริงจังและการแสดงความเข้มแข็งของรัฐบาลไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน กรณีเรือประมงและลูกเรือคนไทยถูกเรือรบเมียนมาไล่ยิง เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุถึงแม้จะรุกล้ำน่านน้ำก็มีวิธีบริหารจัดการที่ไม่รุนแรงเท่านี้ได้
...
นั่นยังไม่พูดถึงผลกระทบความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล และบุคคลสำคัญในรัฐบาลที่ฉายภาพว่ามีสัมพันธ์อันดีกับผู้นำเพื่อนบ้าน ทำให้มีคำถามว่าที่ประกาศจะแก้ปัญหาค้างคา ทั้งแหล่งยาเสพติด อาชญากรรม พนันออนไลน์ที่มีฐานตามแนวชายแดน รวมทั้งการรุกล้ำแดนไทยของชนกลุ่มน้อยจะแก้ได้จริงหรือไม่ เพราะแค่กรณีนี้ก็ยังทำไม่เข้าเป้า
เรื่องนี้จึงเป็นอีกปมปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข และก็ต้องมีวิธีการชี้แจงบอกกล่าวเหตุผลกับประชาชนเท่าที่จะเปิดเผยข้อมูลได้ว่ามีปัญหา มีข้อติดขัดหรือมีเงื่อนงำซับซ้อนอะไรหรือไม่ เพราะหากปล่อยค้างคาเอาไว้เช่นนี้ ก็ยิ่งมีแต่จะตอกย้ำซ้ำภาพความไร้ประสิทธิภาพ ในโจทย์สำคัญกับงานความมั่นคงและการต่างประเทศของรัฐบาลไทย.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม