นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บรรดานักการเมืองส่วนใหญ่ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจรัฐบาลเผด็จการ คสช. และแสดงเจตนารมณ์กันอย่างชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นผลไม้พิษให้เป็นประชาธิปไตย
โดยทุกพรรคการเมืองต่างประกาศ ชูเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อมาเขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รวมทั้งลดอำนาจ สว. และวางกรอบอำนาจ ขององค์กรอิสระต่างๆใหม่ให้เหมาะสม
ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 เคยมีการเสนอ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นการเสนอร่างจากภาคประชาชน สส.พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น แต่สุดท้ายก็ต้องสะดุดหยุดลง เพราะกลุ่ม 40 สว.มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ต้องจัดให้มีการลงประชามติก่อน และยกร่างเสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติอีกครั้ง ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ยิ่งมาเจอกติกาทำประชามติเสียงข้างมาก 2 ชั้นที่คณะ กก.ร่างรัฐธรรมนูญวางกับดักไว้ ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคมากขึ้น แถมพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย และ สว.ในเครือข่าย โชว์พลังค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญปมมาตรฐานจริยธรรมและ พ.ร.ป.ประชามติ เพื่อใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว แทน 2 ชั้น ก็ยิ่งส่อว่าโอกาสจะแก้ไขสำเร็จริบหรี่
แม้ล่าสุดประธานรัฐสภา นัดประชุมรัฐสภาวันที่ 14–15 ม.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน โดยมีสาระสำคัญให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และตัดเงื่อนไขต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3 เห็นชอบออกไป ขณะที่พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยเสนอร่างประกบ
...
แต่ก็เป็นไปตามฟอร์ม สส.ภูมิใจไทย และ สว.สายสีน้ำเงิน ตั้งป้อมขวางลำ ประกาศ ไม่เห็นด้วยในการตัดอำนาจ สว. อ้างส่อขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ดูแล้วจึงเป็นเรื่องยากที่จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะอุปสรรคใหญ่มาจาก สส.บางกลุ่มและ สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ยังหวงอำนาจและความได้เปรียบทางการเมืองนั่นเอง.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม