สวัสดีปีใหม่พ่อแม่พี่น้อง 

เรื่องราวของเศรษฐกิจ สังคม และการบ้านการเมืองวันนี้ คงไม่ต้องสาธยายอะไรกันมาก เพราะมี “ช่างเชื่อม” ช่วยโยงเรื่องราวต่างๆ เข้ามาหากันมากมาย 

พอสรุปให้เห็นเป็นโจทย์ใหญ่ๆ ได้ 2 เรื่องที่รัฐบาลต้องทำให้สำเร็จ เพื่อจะผ่านรอดปี 2568 ไปให้ได้ 

โจทย์แรกคือ เรื่องของการเมือง ถ้า นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ไม่ผ่านโจทย์นี้ คุณแม่ผู้แสดงความห่วงใยในตัวลูกสาวอย่างเคร่งครัด อาจขอให้มีการเปลี่ยนตัว 

นี่จึงเป็นที่มาให้ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยคนที่สาม ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนปีใหม่ด้วยการยืนยันกับสื่อมวลชนว่า เขาหายป่วยจากอาการเส้นเลือดฝอยในสมองแตก(Stroke)แล้วจริงๆ  

แม้คุณพ่อ อดีตนายกฯทักษิณ จะตอกย้ำอยู่เสมอว่า นายกฯแพทองธาร จะอยู่ในตำแหน่งไปจนครบเทอมก็ตาม 

โจทย์แรก ปรับ ครม.

ถอด “พีระพันธ์ุ” พ้นพลังงาน

ประคองรัฐนาวาบนความขัดแย้ง

เป็นที่ชัดเจนว่า การปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) “อิ๊งค์ 1” จะเกิดขึ้นแน่ แต่นายกฯแพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จำต้องรักษาความเป็นหัวเรือใหญ่ของพรรคแกนนำรัฐนาวานี้ต่อไปให้ได้ แม้จะมีเรื่องแตกหักกันภายในพรรคร่วมรัฐบาลดังที่เป็นข่าว  

ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล ระบุว่า 2 - 3 สัปดาห์หลังปีใหม่ หรือ ต้นเดือนกุมภาฯ งานแรกที่จัดเป็นเรื่องเร่งด่วนคือ ปรับ พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ออกจากตำแหน่ง

เหตุเพราะ พีระพันธ์ุ มีความเห็นต่อนโยบายด้านพลังงานที่ขัดแย้งกับนโยบายพรรคเพื่อไทยตลอด เช่น ประกาศว่า บุคคลเดียวที่เขาจะยอมเดินตามหลัง คือ “ลงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ และ องคมนตรี  หลังจากที่อดีตนายกฯทักษิณ ออกมาตำหนิรัฐมนตรีในพรรคร่วมอย่างรุนแรง จากเหตุไม่เข้าร่วมประชุมครม.แถมหนีการลงมติในพ.ร.ก.สำคัญของรัฐบาลด้วยข้อความโดยสรุปว่า ส่งใบลาออกมาได้เลย ถ้าไม่อยากร่วมสังฆกรรมกัน!

...

แม้จะคาดเดากันว่า ทักษิณ หมายถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว. มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งไม่อยู่ประชุมเช่นกัน แต่วันถัดมาทั้งสองมีนัดตีกอล์ฟกันที่ Stone Hill...ดับกระแสความไม่ลงรอยกันของพี่น้องที่คบกันมาเนิ่นนานเป็นที่เรียบร้อย

เป้าจึงพุ่งกลับไปที่ พีระพันธ์ุ  ซึ่งปกติก็มีแนวคิดด้านพลังงานที่ค่อนข้างสวนทาง และสร้างปมความขัดแย้งกับ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายรัฐมนตรีเป็นประธานมาตลอด

เช่น สั่งระงับการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ทำให้เหลือกรรมการที่ยังอยู่ในวาระเพียง 2 คนจนทำอะไรไม่ได้, สั่งระงับการประมูลจัดซื้อจัดจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ, สั่งให้แก้ไขรายละเอียดการเก็บภาษี Carbon Tax ในน้ำมันเชื้อเพลิง, และ สกัดการเจรจาเพื่อเอาทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่าง ไทย-กัมพูชา เรื่องสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ริเริ่มขึ้น

คำสั่งที่ให้ระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน Feed-in Tariff เฟส 2 จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ ของ พีระพันธ์ุ ยังทำให้ กพช.ต้องหาทางไกล่เกลี่ยกับภาคเอกชนที่ลงทุนไปแล้วให้ชะลอการเปิดดำเนินการออกไป 

แต่โดยเหตุที่ภาคเอกชนหลายแห่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จึงยากที่จะชะลอการดำเนินงานต่างๆ ตามแผนที่ได้แจ้งไว้กับตลาด ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน เมื่อการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผล กพช.จึงออกหมัดสวนด้วยการประกาศไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรองนายกฯ และรมว.พลังงาน 

“พีระพันธ์”กับสัมพันธ์ภาพในพรรค

ทุบท่อน้ำเลี้ยง - 36 เสียงพร้อมไป

พีระพันธ์ุ ยังสร้างความขัดแย้งรุนแรงกับผู้ให้การสนับสนุนพรรคด้วยการโยนข้อกล่าวหาใส่เขามากมาย แม้จะชัดเจนว่า เขาได้สัญญาต่างๆ มาอย่างถูกต้องตามกฏหมายตั้งแต่สมัย “ลุงตู่” แล้วก็ตามที

“อย่าว่าแต่ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยเลย ความสัมพันธ์ในพรรค รทสช.ก็ใช่จะราบรื่น ยิ่งตัดท่อน้ำเลี้ยงของพรรคเสียส้ินเช่นนี้…

โอกาสที่คนใน รสทช.จะผันตัวไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น หรือ “พรรคโอกาสใหม่” ที่มี ผู้บริหาร และ สมาชิกพรรคส่วนใหญ่มาจากกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้ร่มเงาของผู้ให้การสนับสนุนพรรครายเดิม ก็มีความเป็นไปได้สูง”

อีกประเด็นที่สื่อ และเหล่าช่างเชื่อมชี้ชัดก็คือ การลุ้นให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จาก พรรคกล้าธรรม ดึง สส.จาก พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่ยังเหลืออีกราวสิบกว่าเสียง มาเข้ากับ กล้าธรรม เสียให้หมด

ในเวลาเดียวกันก็ลุ้นให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ของพรรคเพื่อไทย ดึงเอาสส.จาก รทสช.ที่มีอยู่ 36 เสียง มาอยู่กับพรรคเพื่อไทยให้ได้มากที่สุด ก่อนจะปรับ ครม.ครั้งใหญ่...นัยว่า ราวเดือนมีนาฯนี้ ส่วนจะใช้วิธี ดูดสส.ออกมาอย่างไร คงมีหลายวิธี อยู่ที่จะเลือกใช้วิธีใด!

โจทย์ที่สอง ปัญหาเศรษฐกิจ

ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจขยายตัว

ค่าเงินอ่อน ดอกเบี้ยต่ำ แยกหนี้ดี/เสีย

อย่างที่ทราบกัน รัฐบาลคาดหวังว่า เศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัวได้อย่างน้อย 3% ของ GDP หรือเกินกว่านั้น ภายใต้ความคาดหวังว่าโครงการที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เช่น

โครงการเอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์, การแก้กฏหมายขยายระยะเวลาให้ต่างชาติสามารถมีกรรมสิทธิ์ได้ 90 - 99 ปี, โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC), รวมถึง การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากอู่ตะเภา-กทม.เป็นต้น จะสามารถผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้

ยังมีเรื่องของความพยายามให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และเหมาะสมกับการส่งออกของประเทศในระดับไม่ต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เงินบาทแข็งค่าทุกๆ 1% อาจฉุดรายได้ผู้ส่งออกได้มากเกือบ 100,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.5% ของ จีดีพี ยิ่งถ้าเงินบาทผันผวนหนัก หรือ ไร้เสถียรภาพ ผู้ส่งออกไทยก็ยิ่งจะได้รับผลกระทบหนัก

เช่นเดียวกับการร้องขอให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของ ธปท. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ต่อปี

จะว่าไปอัตราดอกเบี้ยระดับนี้ ทำให้แบงก์พาณิชย์ มีกำไรสูงในแต่ละปี เพราะนำเงินไปฝากกับ ธปท.เพื่อกินดอกเบี้ยสูงกว่าตลาดหรืออัตราที่แต่ละแบงก์ให้แก่ผู้ฝากเงินชนิดที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน 

ตรงกันข้าม แทนที่จะปล่อยกู้ให้แก่ภาคธุรกิจ SMEs และ ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ขยายธุรกิจ การลงทุน หรือมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจได้ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองได้ แต่แบงก์พาณิชย์ก็แทบจะไม่ปล่อยเงินกู้ให้เลย 

ผลลัพธ์จึงเป็นอย่างที่เห็นว่า มีทั้งบ้าน และรถยนต์ ถูกยึดมากมาย ส่วนผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อย ก็ทิ้งงานไปเป็นจำนวนมากจนโครงการก่อสร้างต่างๆ ของรัฐบาลเกิดความล่าช้า ต้องหาผู้รับเหมารายใหม่มาแทน ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อที่ติดลบ -1.8% ในปีที่ผ่านมา 

ดูจากตัวเลขหนี้สินครัวเรือนที่เกือบเท่ากับ จีดีพี หรือ ผลผลิตมวลรวมในประเทศวันนี้ ซึ่งพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16 - 17 ล้านล้านบาท ถ้ายอมลดดอกเบี้ยลงให้สัก 1 สต.อย่างน้อยผู้คนก็จะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น หรือ ช่วยให้หายใจหายคอคล่องขึ้นบ้าง...เพราะได้/เสียเท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายตามนั้น 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนใหญ่กว่าที่คิด

ถ้าลดดอกได้ หนี้ลด จีดีพีก็โตได้

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รัฐบาลพยายามแก้ไขด้วยการทำโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่ยังไม่ทันถูกจัดชั้นให้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จำนวนรวม 1.8 ล้านราย ในวงเงินเกือบ 900,000 ล้านบาทนั้น 

แม้จะจัดว่าเป็นหนี้ก้อนเล็กๆ แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มกระบวนการแก้หนี้ ด้วยการให้แบงก์พาณิชย์ร่วมรับผิดชอบ โดยการใช้เงินที่แบงก์พาณิชย์ต้องส่งเข้าไปใช้หนี้ให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน(FIDF)ครึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนด 

ส่วนที่เหลือ อาจจำเป็นต้องใช้รูปแบบการจัดการแยกหนี้ดี-หนี้เสียออกจากกันเหมือนกับที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ แยกเอาสินทรัพย์ดีออกมาเลหลังขายทอดตลาด นั่นเอง

ถ้าลดหนี้ได้ จีดีพี ของประเทศไทย ก็สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ และเร็วกว่าจะนั่งรอคอยความสำเร็จจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องใช้ระยะเวลา อย่างน้อยๆ 5 ปี

สร้างซูเปอร์แพลตฟอร์ม

เพิ่มระบบการชำระเงินสกุลดิจิทัล

ยังมีอีกสองสามโครงการที่เป็นแนวคิดของอดีตนายกฯทักษิณ เช่น การสร้างศูนย์สเต็มเซลล์ขึ้นในประเทศไทยให้เป็นฮับของภูมิภาคนี้ และสร้างซูเปอร์แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของระบบการชำระเงินสกุลดิจิทัล 

เช่นเดียวกับ เงินสกุลต่างประเทศอื่นๆ เช่น เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ, เงินเยน, เงินปอนด์, เงินยูโร, เงินหยวน, เงินบาท และ เงินดิจิทัล ที่สามารถชำระค่าสินค้าได้ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของธปท.และไม่ต้องไปใช้เงินในคลังสมบัติเจ้าคุณปู่ของประเทศด้วย 

ซูเปอร์แพลตฟอร์มของระบบการชำระเงินสกุลดิจิทัลนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ซึ่ง ช่างเชื่อม คาดว่า น่าจะสามารถนำมาใช้ได้ในอีกราวๆ 10 เดือนข้างหน้า

ได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐนาวาของ นายกฯแพทองธาร จะนำพาประเทศ ชาติ และคนไทยรอดผ่านปัญหา และอุปสรรคนานัปการในปีนี้ไปได้