ส่องวิสัยทัศน์ “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรคประชาชนกับโจทย์ใหญ่ภารกิจ ท้าทาย นำพรรคประชาชนสู่เป้าหมายชนะเลือกตั้ง 20 ล้านเสียง เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ต้องบอกว่าเป็นงานยากเลยทีเดียว ผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.2566 พรรคก้าวไกลชนะที่ 1 ยังได้ไปเพียง 14.4 ล้านเสียง
สถิติผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ประมาณ 39.5 ล้านคน ครั้งหน้าตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นเป้า 20 ล้านเสียงก็คือครึ่งหนึ่ง ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แม้แต่สมัยพรรคไทยรักไทยฟีเวอร์ชนะเลือกตั้ง 6 ก.พ.2548 กวาด สส. 377 จาก 500 คน ยังได้แค่ 19 ล้านเสียง แต่หากเทียบอัตราส่วนผู้มาใช้สิทธิ 32.3 ล้านคน ก็เกินครึ่งไปไกล
หากกระแสส้ม พรรคประชาชนฟีเวอร์สุดขีด ชนะเลือกตั้งกวาด สส.ได้เกินครึ่งก็มีโอกาสจะได้ถึง 20 ล้านเสียง ตามทัศนคติเชิงบวกของ “หัวหน้าเท้ง” ที่อวยพรปีใหม่ 2568 พร้อมแรงบันดาลใจ “อยากให้ทุกคนมองปี 2568 เป็นปีแห่งความหวัง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทิ้งความหวัง เมื่อนั้น จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”
หลายคนคิดว่าประเทศไทยอยู่ไม่ได้ย้ายประเทศกันดีกว่าไหม ไม่อยากให้คิดแบบนั้น ประเทศเรามีศักยภาพอะไรหลายอย่าง เพียงแต่โจทย์มันยังไม่ถูกแก้ไข เพราะการเมืองยังไม่ถูกแก้ โครงสร้างอำนาจรัฐ ระบบราชการ สวัสดิการยังไม่ถูกแก้ไข และพัฒนาอย่างดีเพียงพอ อยากให้เชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้
ประเด็นที่น่าสนใจ นายณัฐพงษ์ระบุชัดเจน พรรคประชาชนจะไม่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 แน่นอน ทั้งนี้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว พรรคการเมืองไม่สามารถเอาเรื่องนี้มารณรงค์หาเสียงได้อีกแล้ว แต่ยังไม่ปิดช่องทางปรับปรุงกฎหมาย ภายใต้กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ
...
ฉะนั้น บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ จะใช้เงื่อนไขนี้มาเป็นข้ออ้างกีดกันไม่ให้พรรคประชาชนเป็นรัฐบาล หรือร่วมงานกันไม่ได้อีกต่อไป เรื่องการดีลทางการเมือง ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พรรคประชาชนจะยึดจากหลักการ รวมทั้งยังเน้นย้ำว่าพรรคประชาชนพร้อมทุกด้านในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้า
ต้องชื่นชมในความกล้าของ “หัวหน้าเท้ง” คนหนุ่มไฟแรงมีเหตุผลตรงไปตรงมา ประกาศจุดยืนชัดเจนอย่างมีนัยเป้าหมาย โดยไม่กังวลผลกระทบต่อผู้สนับสนุนแนวทางเดิมของพรรค แต่มองถึงการก้าวเดินไปข้างหน้าในทิศทางที่เป็นไปได้และควรจะเป็น พยายามเปิดทางและเปิดโอกาสให้กับตัวเองบนเส้นทางการเมืองที่คับแคบ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม