“นิกร” ชี้ ข้ามทำประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสี่ยงถูกร้องมาตรา 157 - ขัดจริยธรรม หวั่นสองสภาแตกหักรุนแรง เชื่อ ร่างของพรรคประชาชน เจอแรงต้านสูง เหตุกระทบหมวด 1 และ 2

วันที่ 2 มกราคม 2568 นายนิกร จำแนง เลขานุการกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และหมวด 15/1 ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นผู้เสนอ ว่า เป็นความพยายามที่ตนเอาใจช่วย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะมีอุปสรรคและปัญหาทางนิติศาสตร์ อาจมีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทำได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการยื่นศาลก็อาจมีปัญหาเหมือนปี 2563 ที่สมาชิกรัฐสภามีความกังวลในการลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไข มาตรา 256 เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีการทำประชามติก่อน และจะเสี่ยงถูกร้องกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดมาตรฐานจริยธรรม นำไปสู่การถอดถอนได้

ทั้งนี้ นายนิกร เชื่อว่า การพิจารณาในวาระ 1 โอกาสผ่านยากมาก แต่ถ้าผ่านไปได้ การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ในวาระ 2 ก็ยากพอกัน เพราะเนื้อในร่างแก้ไขของพรรคประชาชนไปหักอำนาจของวุฒิสภา เน้นสภาผู้แทนราษฎรมากเกินไป นอกจากนี้ ยังไปถอด (8) ออกหมด ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเปลี่ยนหลักการสำคัญ เชื่อว่าจะมีแรงต่อต้านค่อนข้างมาก และจะมีปัญหาในวาระ 3 แน่นอน

นายนิกร กล่าวอีกว่า การพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 256 จะทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างสองสภา อภิปรายปะทะกันหนัก ดังนั้น ต้องระวังผลกระทบที่จะตามมาให้มาก หากไม่ได้อะไรขึ้นมา มีแต่จะเกิดบาดแผลความขัดแย้งที่ลึกลงไปอีก.

...