ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนขึ้นมาบริหารประเทศ การสร้างคะแนนนิยมจากนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติออกมาเป็นผลงานของรัฐบาล เป็นหัวใจสำคัญที่สุด การเป็นรัฐบาลว่ายากแล้ว การเป็นรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจยิ่งยากกว่า และเป็นธรรมดาของรัฐบาลผสม ที่ต้องมีการสร้างผลงานของตัวเองแต่ต้องไม่ขัดแย้งกับนโยบายหลัก

นโยบายประชานิยม กลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ปากท้อง การดำรงชีพ ค่าน้ำค่าไฟ ค่ารถโดยสาร ค่ารักษาพยาบาล ช่วยค่าครองชีพ การศึกษา ล้วนแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานทั้งสิ้น รัฐบาลไหนมาก็ต้องทำอยู่แล้ว

แต่นโยบายใน การสร้างความเจริญเติบโตของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงินการคลังการลงทุน ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ถือเป็น นโยบายหลักจริงๆ ที่พรรคร่วมรัฐบาล จะต้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็เดินหน้าทำงานไม่ได้

ยกตัวอย่างนโยบายพลังงานของประเทศที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต การลงทุน สร้างแรงจูงใจในการลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศเพราะพลังงานก็ถือว่าเป็นทั้งต้นทุนและความมั่นคงทางธุรกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ประกาศนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาด ที่เป็นเทรนด์ของพลังงานโลกยุคปัจจุบันในการลดภาวะโลกร้อน แต่กลายเป็นว่า ในการปฏิบัติ กลับจุกจิกที่ค่าไฟฟ้า กำลังไฟฟ้าสำรอง ที่มาของแหล่งพลังงาน ทำให้การปฏิบัติบางกรณีขัดกับนโยบายหลัก และสร้างความไม่เชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาล

โดยเฉพาะการพูดความจริงครึ่งเดียว ยกตัวอย่างเรื่องของ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ที่อ้างว่าประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงถึง 50% ทำให้ วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู โฆษกกระทรวงพลังงานต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่า พลังงานไฟฟ้าสำรองเรามีอยู่แค่ 25.5% เท่านั้น ไปปั่นกันจนน่ากลัว เนื่องจาก ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนเอามานับรวมไม่ได้ เพราะ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ 24 ชั่วโมง กำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศด้วย

...

แต่ปรากฏว่าในที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว. พลังงานเป็นประธาน มีมติชะลอการรับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมจำนวน 3,660 เมกะวัตต์ ทั้งที่นโยบายการใช้พลังงานสะอาดและลดภาระค่าไฟของประชาชนกำหนดเอาไว้เป็นหลักการอยู่แล้ว นอกจากนี้ ที่ประชุมกลับมีการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 72 ราย รวมเป็นพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขาย 2,145.4 เมกะวัตต์ ในขณะที่บริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือ EGCO Group ได้รับการคัดเลือกในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งมีอยู่ 2 บริษัทที่ได้สิทธิขายไฟ มีความลักหลั่นชัดเจน ทั้งการเปิดประมูลและการคัดเลือก

นโยบายปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป ที่หวังว่าจะดูดทุนจากต่างประเทศ มีความเห็นจากพระนักปฏิบัติ ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน เพราะไม่มีประชาชนบ้านไหนที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 1 เมกะวัตต์อยู่แล้ว เวรกรรมนะโยม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม