สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน ช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คนอาชีพนักหนังสือพิมพ์อย่างผมไม่ได้หยุดด้วย ต้องเขียนบทความรับใช้ท่านผู้อ่านทุกวัน แต่ในช่วงวันหยุดยาว มีเวลาในการอ่านบทความที่มีประโยชน์มากขึ้น บทความหนึ่งที่ผมไปอ่านพบใน “เว็บไซต์การเงินธนาคาร” แล้วชอบมาก จึงขออนุญาตนำมาแชร์ในวันนี้ และหวังว่าจะสามารถส่งต่อไปถึง รัฐบาลเพื่อไทย และ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ที่กำลัง “ตกอยู่ในหลุมนโยบายเศรษฐกิจจากการหาเสียง” ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ บทความนี้ชื่อ “เศรษฐกิจไทยโลกสองใบ” เขียนโดย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ซีอีโอกลุ่มงาน Economic lntelligence Center (EIC) และซีอีโอกลุ่มงานกลยุทธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์

ดร.สมประวิณ เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ชอบเมืองไทย และได้ตั้งข้อสังเกตถึงสังคมไทยว่า “lt seeme that your society consists of both ‘BTS people’ and ‘on-the-street people,’ but they appear to move freely between the two.”

ประโยคนี้ทำให้ ดร.สมประวิณ ต้องตั้งคำถามเพื่อค้นหาว่า จริงหรือไม่ที่สังคมไทยเปิดโอกาสให้คน (ที่ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสกับคนเดินถนน) สามารถเลื่อนชั้นได้อย่างเสรีหรือเป็นเพียงภาพลวงตาที่ซ่อนปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมเอาไว้ จากข้อมูล Global Social Mobility lndex 2020 (ดัชนีวัดการเลื่อนชั้นทางสังคม) ของ World Economic Forum พบว่าไทยแพ้กระทั่งเวียดนาม ดัชนีการเลื่อนชั้นทางสังคมของคนไทยอยู่อันดับที่ 55 ได้ 55.4 คะแนน ในขณะที่ เวียดนามอยู่อันดับ 50 ได้ 57.8 คะแนน มาเลเซียอยู่อันดับ 43 ได้ 62 คะแนน และ สิงคโปร์อยู่อันดับ 20 ได้ 74.6 คะแนน ไทยแพ้เพื่อนบ้านหมด

...

ข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนถึงปัญหาการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ มีงานวิจัยปี 2023 โดยจัดกลุ่มคนไทยตามรายได้เพื่อคำนวณว่า คนไทยแต่ละระดับรายได้มีโอกาสเลื่อนชั้นได้มากแค่ไหน

ผลวิจัยพบว่า คนไทยในกลุ่มรายได้ต่ำสุด 10% แรก มีโอกาสน้อยกว่าครึ่งที่จะเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์กำลังเลวร้ายลงไปเรืิ่อยๆ เมื่อนำข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มาสำรวจว่า ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเลื่อนชั้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากแค่ไหน ก็พบว่ามีโอกาสเพียง 4–5% ในช่วงปี 2546–2562 แม้ในช่วงโควิดโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นจากการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่เมื่อหมดความช่วยเหลือแล้ว โอกาสเลื่อนชั้นกลับตกลงไปที่ 3.3% ในปี 2566 น่าสังเกตว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ระดับรองขยับสูงได้มากเท่าที่ควร เศรษฐกิจไทยจึงแยกออกเป็น “โลกสองใบ” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โลกสองใบในเศรษฐกิจไทยยังแบ่งออกเป็น 3 มิติ ดังนี้

มิติที่ 1 อ่อน-แข็ง โลกสองใบของครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ กับครัวเรือนที่มีฐานการเงินเข้มแข็ง มิติที่ 2 เก่า-ใหม่ สอง โลกของภาคการผลิตโลกเก่ากับโลกใหม่ มิติที่ 3 ใหญ่-เล็ก โลกสองใบของ ธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจขนาดเล็ก ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า กำไรของธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนมากกว่าขนาดใหญ่ถึงสองเท่า และ ช่วงโควิดธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเติบโตได้ 10% แต่ธุรกิจขนาดเล็กหดตัว 2-3% และยังไม่ฟื้นกลับที่เดิม หากปล่อยให้โลกสองใบแย่ลง โลกสองใบของเศรษฐกิจ จะกลายเป็น “ปัญหาสังคม” ของประเทศไทย

ผู้เขียนได้เสนอให้รัฐบาล “ปรับกติกา” เพื่อให้คนตัวเล็กสามารถแข่งขันกับคนตัวใหญ่ได้

“เศรษฐกิจไทยโลกสองใบ” ไม่ใช่เรื่องที่ควรเคยชินและยอมรับ แต่เป็นปัญหาที่เราต้องตระหนัก และหาทางลดระยะห่างโลกสองใบให้ใกล้กันมากขึ้นให้ได้ คนไทยทุกคนควรได้รับโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ โอกาสเข้าถึงการศึกษา โอกาสมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดี จนกระทั่งจากโลกนี้ไปด้วย “ความรู้สึกพอใจในชีวิต” ผมเห็นด้วยกับ ดร.สมประวิณ ทุกอย่าง รัฐบาลต้องเร่งปรับกติกาเพื่อเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กบ้าง ไม่ใช่สร้างกติกาเพื่อให้คนตัวใหญ่ผูกขาดฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นอยู่.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม