รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดให้ผู้ต้องขังเยี่ยมญาติใกล้ชิดช่วงปีใหม่ คาดเตรียมใช้ระเบียบขังนอกเรือนจำ มกราคมนี้ ปัดเอื้ออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชี้มีโทษสูงกว่าที่กำหนด
วันที่ 29 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทัณฑสถานหญิงกลางว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์และญาติที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่ 2568 และให้สัมภาษณ์ว่า กรมราชทัณฑ์มีเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ โดยที่คลองเปรมมีเรือนจำ 5 แห่ง ผู้ต้องราชทัณฑ์รวม 2 หมื่นกว่าคน โดยเทศกาลปีใหม่ กระทรวงยุติธรรมได้มอบของขวัญให้ประชาชนได้เยี่ยมญาติและมีการจำหน่ายสินค้าของดีราคาถูก และส่งผู้ต้องราชทัณฑ์ทำสาธารณประโยชน์นอกเรือนจำ ซึ่งทัณฑสถานหญิงกลางมีผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมด 4,000 คน และต่างจากเรือนจำอื่นที่ผู้ต้องราชทัณฑ์เป็นคดียาเสพติดส่วนใหญ่ถึง 80% แต่ที่ทัณฑสถานหญิงส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นคดียาเสพติด 40% ปีใหม่นี้จึงเปิดให้เยี่ยมญาติใกล้ชิดถึงสิ้นเดือนมกราคม ส่วนผู้ต้องราชทัณฑ์ที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาก็ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ การจัดให้ญาติเยี่ยมใกล้ชิดจะทำให้ญาติคลายความเป็นห่วงกังวล ซึ่งมีหลัก 6 ด้าน ได้แก่ ต้องจัดที่อยู่อาศัยอย่างเสมอภาค อาหารครบ 3 มื้อ มีนักโภชนาการดูแลอย่างถูกหลักอนามัย สร้างโอกาสด้านการศึกษา ทั้งนี้พบผู้ต้องขังกว่า 2 แสนคน มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน จึงต้องจัดการศึกษาเพิ่มเติม และดูแลอัตลักษณ์ผู้ต้องราชทัณฑ์มุสลิม และการสร้างอาชีพเพื่อให้มีงานทำหลังพ้นโทษ และไม่ทำผิดซ้ำอีก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังกล่าวถึงกรณีผู้ต้องขังคดีบัญชีม้า ซึ่งพบอายุน้อยลงว่า หลายประเทศมีการใช้มาตรการคุมประพฤติเพิ่ม ยกระดับให้ได้โอกาสด้านกฎหมายให้สู้คดีได้
...
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการออกประกาศหลักเกณฑ์ระเบียบกักขังนอกเรือนจำว่า ขณะนี้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเสร็จแล้วโดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจไม่มีการแก้ไขอะไร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมาก บางที่เราอาจต้องให้เขาออกไปอยู่ข้างนอก โดยที่คุมขังอื่นอาจเป็นที่คุมขังเหมือนกัน ไม่ต่างอะไร เขาจะอยู่ได้แค่ในที่นั้น เพียงแต่ไม่ให้เกิดความแออัด เช่น คนเป็นโรคไตวาย จะไว้ในเรือนจำไม่ได้ อีกทั้งโรงพยาบาลทัณฑสถานเองก็เล็ก คาดว่าจะได้ใช้ระเบียบดังกล่าวแล้ว เดิมคิดว่าจะแล้วเสร็จก่อนช่วงปีใหม่ หลังทำประชาพิจารณ์เสร็จเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เนื่องจากระเบียบดังกล่าวมีขั้นตอน มีคณะกรรมการระดับกรม, ผู้บัญชาการเรือนจำ, องค์กรที่เข้ามาช่วยดู และที่สำคัญผู้ที่ออกไปต้องติดกล้องเพื่อให้ดูได้ บางส่วนอาจติดกำไล EM รวมถึงมีการจำกัดพื้นที่
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า จะมีการบังคับใช้ครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคม 2568 ได้หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คาดว่าหลังเดือนมกราคม โทษส่วนใหญ่จะเป็นโทษเล็กน้อย ตั้งแต่ 4 ปีลงมา
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามต่อว่า ปี 2568 เราจะได้เห็นผู้ต้องขังที่ได้เข้าระเบียบหลักเกณฑ์คุมขังนอกเรือนจำครั้งแรกหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า หากเรือนจำไหนพร้อมก็จะทำ โดยจะต้องดูเรื่องของสุขภาพและมีความผิดน้อยก่อน
ต่อข้อถามว่า จะเตรียมรับมืออย่างไร เนื่องจากหลายคนมองว่าระเบียบดังกล่าวทำเพื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ และมีโทษสูงกว่าที่กำหนด
เมื่อถามต่อว่าหากจะใช้ได้ต้องมีการจำคุกก่อนหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ต้องโทษ 4 ปี และมีการประเมิน ซึ่งคณะกรรมการฯ และ ผบ.เรือนจำต้องดูให้ดี เพราะเขาต้องรับผิดชอบ ที่สำคัญผู้ต้องหายังต้องถูกคุมขังอยู่ด้วย