อีกวันเดียว ก็จะเข้าสู่ปี พ.ศ.2568 ...ปีที่หลายคนคาดหวังว่าจะเป็นปีที่ดีกว่า ทำมาค้าขายได้คล่องกว่า พอมีความสุขได้บ้าง และอย่างน้อย ก็ขอให้ไม่ต้องลำบากเหมือนปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป
จริงๆ เราทุกคนก็อยากจะให้เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครอยากอยู่ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากของชีวิตที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือประสบกับปัญหาความไม่แน่นอนของการเมืองที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้เล่น กับความเปราะบางของเสถียรภาพรัฐบาลที่กระทบต่อเศรษฐกิจปากท้องผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่หลังจากที่ได้ตรวจสอบเหตุปัจจัยต่างๆ และความน่าจะเป็นในปีหน้า ก็พบว่า ไม่ใช่แต่คนไทยที่เท่านั้นต้องเผชิญอุปสรรค กับ การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายสติปัญญา และความสามารถมากมายของผู้นำแต่ละประเทศ
เราๆ ท่านๆ จึงยังต้องเผชิญปัญหาที่อยู่เหนือการควบคุม หรือที่ข้ามจากปีเก่ามาเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจสุกงอมในปีหน้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา Geo-politic สงครามระหว่างประเทศ ความผันผวนรุนแรงของสภาพดินฟ้าอากาศจากสภาวะโลกร้อน และพิษภัยจากนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
ตลอดจนถึงความเร่งรีบของการต้องเข้าสู่เป้าหมายจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการกีดกันทางการค้า ผลกระทบจากความแตกต่างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน และ มลพิษจากปัญหาภายในที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขของประเทศไทย
สรุปเศรษฐกิจ “เหลียวหลัง-แลหน้า”
ความเห็น “แบงก์ชาติ - เฟด” ต่อภาพรวม
ทุกส้ินปี เราจะสรุปสภาวะเศรษฐกิจในปีที่กำลังจะผ่านไป และ ปีที่กำลังจะมาถึง สำหรับเหลียวหลัง - แลหน้าคราวนี้ ขอสรุปจากผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 4.25 - 4.50% จากครั้งสุดท้ายที่อยู่ ณ ระดับ 4.50 - 4.75%
...
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงว่า จากข้อมูล Dot Plot ส่งสัญญาณให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2568 รวม 0.50% (จากที่เคยประกาศว่า ปี 68 จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 4 ครั้ง ก็เหลือเพียง 2 ครั้ง ครั้งละเพียง 0.25%)
ทั้งนี้ในปี 2568 คาดว่า อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.9% และปี 2569 จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.4%
เฟดยังได้ปรับเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้ 2567 อยู่ที่ 2.5% จากที่คาดไว้เดิม 2.0% และเพิ่มเป้าหมาย GDP ปี 2568 เป็น 2.1% จากที่คาดการณ์เดิมที่ 2.0%
สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567, 2568, 2569 และ 2570 จะต้องอยู่ที่ระดับ 2.8%, 2.5%, 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ
“เฟด” เขย่า “ตลาดหุ้น” สะเทือนทั่วโลก
นักลงทุนไม่แน่ใจ ปีหน้าจะรุ่ง หรือ ร่วง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ระบุว่า นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดรอบนี้ เขย่าตลาดหุ้นโลกให้เกิดความสั่นสะเทือนรุนแรงทีเดียว
ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ดิ่งลงทันที 300 จุด เช่นเดียวกับตลาดหุ้นยุโรป ขณะที่แนสแดก ร่วงลงพอๆ กันคือ 3 - 4% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปร่วงหนักจากแรงเทขายหลังเฟดส่งสัญญาณคุมเข้ม ส่วนตลาดหุ้นไทยวันที่ 19 ธ.ค.ปิดตลาดที่ 1,377.53 ลดลง -21.42 จุด ขณะที่ราคาทองคำ และแม้แต่บิทคอยน์ ก็ร่วงลงเช่นกัน
สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่ใจก็คือ เดิมเฟดประกาศจะปรับลดดอกเบี้ยปีหน้า 4 ครั้ง แต่ถึงเวลาเอาจริงๆ กลับประกาศจะลดแค่ 2 ครั้ง แปลว่า จากนี้ไปเขาคงจะระมัดระวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ว่า อินเด็กซ์จะบ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะยังคงขยายตัว สภาพตลาดแรงงานผ่อนคลายลง และเงินเฟ้อยังปรับลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ ก็ตาม
“เหมือนๆ ว่าห้องที่เดินเข้าไปอาจมืดมิดหรือหนทางข้างหน้าเต็มไปด้วยหมอกควัน จึงจำเป็นต้องเดินอย่างระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นอาจจะเดินไปเตะอะไรแตก หรือ แหกโค้งได้”
แบงก์ชาติ คง ดอกเบี้ย 2.25%
ชี้ความไม่แน่นอนระยะข้างหน้าสูงขึ้น
ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2567 ด้วยเหตุผลที่ว่า
-เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูง โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก
-เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ระดับ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะในกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
-อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% และ 1.1% ตามลำดับ
ดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับ...
กรอบเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน
คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพเงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น แต่ SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
กลุ่มยานยนต์มีพัฒนาการที่แย่ลงจากปัจจัยด้านราคา และอุปสงค์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง
มองไปข้างหน้า แนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ก็มีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออก สินค้า และการลงทุนของไทยในระยะต่อไป
ไม่เชื่อเศรษฐกิจไทยดีได้ ถ้าไม่ลดดอก
ชี้ 5 ปัจจัยกดต่ำดอกเบี้ยเหลือ 1.50%
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า ปีหน้า จะมี 5 ปัจจัยด้วยกันที่กดดัน กนง.ให้ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.50% ได้แก่
- กำลังซื้อครัวเรือนระดับล่างอ่อนแอ
- ภาคการผลิตหดดตัว และซึมยาว โดยเฉพาะยอดขายที่หดตัวแรงมากของกลุ่มยานยนต์
- เงินเฟ้อต่ำไม่ถึงกรอบล่างของนโยบายการเงิน เพราะกำลังซื้ออ่อนแอ และสินค้าราคาถูกจากจีนตีตลาด
- เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำในแบบที่โตระหว่าง 2.5 - 2.7% หรือไม่เกิน 3% ลากยาวไป 5 ปี เพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง สังคมสูงวัย แรงงานขาดแคลน หรือทักษะแรงงานที่มีอยู่ต่ำไป การลงทุนภาคเอกชนไม่เกิด และขาดนวัตกรรมมากมาย
- การเผชิญหน้ากับสงครามค่าเงินที่มาจากสงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษี ความยากลำบากในการส่งออก เป็นต้น
เกิดวิกฤตศรัทธาบริษัทจดทะเบียน
หุ้นดิ่ง-มูลค่าตลาดหาย 5 แสนล้าน
การที่ GDP ของเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราต่ำ ซ้ำยังอาจลากยาวไปอีกอย่างน้อย 5 ปี จะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้คงค้างในระบบเกิดขึ้นมากมาย แม้รัฐบาลจะพยายามเข้าช่วยเหลือ แต่ก็จะทำให้ความช่วยเหลือต้องลากยาวตามไปด้วย
ในขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนจะสูญเสียรายได้ และ ความสามารถในการดำเนินกิจการไปจนไม่สามารถขยายการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกัน หรือกิจการอื่นๆ ได้
ตัวอย่างจาก กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น CPAXT CP และ CPALL ได้กลายเป็นหุ้นที่ทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นรุนแรงถึงขั้นที่กองทุนทั้งในและต่างประเทศเทขายหุ้นจนทำให้ดัชนีหุ้นร่วงดิ่งลงหลุดระดับ 1,400 จุด ไปอยู่ที่ 1,377 จุด มูลค่าความมั่งคั่งตลาดหายไปทันทีกว่า 500,000 ล้านบาท
หลังจากพบว่า มีการอนุมัติวงเงินเกือบหมื่นล้านบาทเพื่อเข้าไปอุ้มกิจการของกลุ่มบริษัท แมคโนเลีย ของทายาทเจ้าสัวที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลกว่า 120,000 ล้านบาท เพื่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรราคาแพงลิบ อาคารคอนโดมิเนียม โรงแรม และสำนักงานให้เช่าย่านบางนาในพื้นที่หลายร้อยไร่
“ตั้งแต่กลางปี 2567 แมกโนเลียออกอาการแรกมาด้วยการออกหุ้นกู้ใหม่ และยืดระยะเวลาการชำระคืนหุ้นกู้เดิมด้วยการให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 7 ต่อปี เช่นเดียวกับหุ้นกู้ของ ทรูคอร์ป...
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีข่าวเปิดเผยออกมาว่า กลุ่มซีพี ขอถอนตัวจากโครงการก่อ สร้างรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินอู่ตะเภา-กรุงเทพฯ ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจ(EEC) โดยเหตุที่ต้องเผชิญปัญหาการลงทุนพร้อมๆ กันหลายด้าน”
เศรษฐกิจมีปัญหาทำน้ำลด-ตอผุด
นักลงทุนอกกลัดหนอง“ลงทุนทิพย์”
วิกฤตความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสถาบันการลงทุนต่างๆ อันที่จริงกลัดหนองมาตั้งแต่มีข่าวว่า การร่วมลงทุนกับ 5 โปรเจ็คใหญ่ของ กลุ่มบริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ซึ่งมี น.พ.บุญ วนาสิน เป็นประธาน และผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรีนั้น โกงเงินบรรดาผู้ลงทุนไปสูงถึง 7,500 ล้านบาท
เรื่องราวดังกล่าวเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นเมื่อมีผู้ถูกหลอกให้ลงทุนไปแจ้งความ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขยายผลถึงการเข้าจับกุมภรรยา และบุตรที่ถูก หมอบุญ ปลอมลายเซ็นในเช็คสั่งจ่ายเงินปันผลที่กลายเป็นเช็คเด้งให้แก่นักลงทุน ขณะที่ หมอบุญ หลบหนีออกนอกประเทศไปโดยไร้วี่แวว
ทั้ง 5 โปรเจ็คใหญ่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันต้านมะเร็ง เฮ้ลท์แคร์ แห่งใหม่ เป็นต้น ล้วนถูกร่างขึ้นมาเพียงเพื่อหลอกเงินจากเซียนหุ้น และนักลงทุนรายใหญ่ที่เชื่อถือในชื่อเสียงของ หมอบุญ ให้หลงเชื่อเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการก่อสร้างโครงการจริง กระทั่งกลายเป็นเรื่องโอล่ะพ่อ และการหลอกลวงที่อาจมียอดความเสียหายบานปลายไปถึงหมื่นล้านบาททีเดียว
เช่นเดียวกับการที่ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) พบความจริงว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารกลุ่มบริษัท Stark Corp หรือ หุ้นสตาร์ค (STARK) ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่เป็น 100 บริษัทแรกของตลาดหุ้นไทยที่เคยมีมูลค่าสูงกว่า 60,000 ล้านบาท มีการยักย้ายถ่ายเทเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง และทุจริตคอรัปชั่นกันจนทำให้มูลค่าบริษัทแทบไม่เหลืออะไร
การตรวจสอบงบการเงินย้อนหลังไป 10 ปี พบ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารตกแต่งบัญชีย้อนหลัง เพื่อสร้างรายได้ปลอมขึ้นตบตานักลงทุน และผู้ถือหุ้นรายย่อย เพื่อการออกขายหุ้นกู้ของบริษัท
กรณีนี้ กลายเป็นมหกรรมต้มตุ๋นครั้งใหญ่ที่สุดในวงการตลาดหุ้นไทย ซึ่งสร้างความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท และมีผู้ตกเป็นเหยื่อกว่า 5,000 คน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 11 คน รวมถึงนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ด้วย
หวั่นเศรษฐกิจไทยปี 2568 ผันผวน
หุ้นดิ่งต่อ-เตือนฟองสบู่แตก
วิกฤตความไม่เชื่อมั่นในตลาดหุ้นที่เกิดขึ้น ทำให้กูรูการลงทุนหลายคนมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ปีหน้าอาจได้เห็นตลาดหุ้นไทยฟองสบู่แตกได้ถ้าไม่ระมัดระวังกันให้ดี ที่สำคัญ หลายคนให้ข้อแนะนำว่า ควรเก็บเงินสดไว้ดีกว่าเอาไปลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัญหามากมาย หรือเก็บเงินสดไว้จนดัชนีหุ้นร่วงต่ำกว่าระดับ 1,200 จุดไปแล้ว
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแถวหน้าของประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ดูตามดัชนีแล้ว น่าเป็นห่วงมากว่า มีบั๊บเบิ้ลอยู่นับเป็นล้านล้านบาทในตลาดหุ้นไทย ซึ่งไม่รู้จะลงเมื่อไหร่ ไม่ต้องกลัวลามหรอก เพราะแค่หุ้นไม่กี่ตัว ดัชนีหุ้นก็ดิ่งลงได้เป็นร้อยจุดแล้ว
“พูดกันตรงๆ ตลาดหุ้นไทยก็ใกล้อิ่มตัวแล้ว และยากจะหาหุ้นตัวใดที่จะลงทุนระยะยาวได้ ยิ่งนักลงทุนไทยนิยมการเล่นหุ้นสั้นๆ ขึ้นมาแล้วขาย ความน่าสนใจก็ยิ่งไม่มี...ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการตรงๆที่ให้ผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เช่น ลดภาษีนิติบุคคลลงจริงๆ ก็ไม่มีอะไรที่จะช่วยดึงดัชนีหุ้นขึ้นได้”
วัชรา ตันตริยานนท์ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงของ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ จำกัด(มหาชน) และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่ตลาดหุ้นไทยจะเติบโตได้ดี ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจไทยมีปัญหามานาน โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม
บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งเวลานี้ ก็ต้องพยายามทำให้การลงทุนก่อให้เกิดรายได้ เอามาหมุนเวียนในโครงการก่อน เพราะขณะนี้ แบงก์พาณิชย์เริ่มมีมาตรการเข้มงวดเรื่องการให้สินเชื่อเพิ่มแล้ว หากยังไม่มีรายได้ใหม่ๆ กลับเข้ามา ก็อาจไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อใหม่ให้ สภาพคล่องจึงตึงตัวทั้งภาครัฐ และเอกชน
“ผยง”เชื่อเศรษฐกิจกำลังโงหัว
แต่กูรูหวั่นรอดยาก นายกฯไม่มีทีมศก.
ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ให้ความเห็นว่า การที่มีต่างชาติเอาเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนพอสมควร ยังไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจประเทศไทยดี
นั่นยังเป็นเพียงตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ให้มาว่ามีนักลงทุนต่างชาติสนใจจะลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวมเท่าใด จะเอามาผนวกรวมว่าเศรษฐกิจไทยดีเพราะมีเงินทุนไหลเข้ามามากไม่ได้
“ผมคิดว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้เปรียบเสมือนงูใหญ่ที่กำลังลอกคราบอยู่ ในเวลาที่งูลอกคราบ ก็คงพยายามจะพลิกตัวไปมาเพื่อให้คราบนั้นค่อยๆ หลุดออก ผมมองเห็นว่า งูกำลังชูหัวขึ้น... แต่จะลอกคราบได้เร็วเพียงใด อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะของอดีตนายกฯทักษิณ เช่น เรื่อง เอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ กับอีกหลายๆ โครงการที่ได้มีการแถลงไว้... การแจกเงิน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศไทยให้ดำเนินไปในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นของกลุ่มนักธุรกิจอีกด้านหนึ่งที่ไม่เชื่อว่า รัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร จะดำเนินการตามนโยบายตน และอดีตนายกฯทักษิณ ผู้พ่อได้ก็เพราะ ทั้งคู่ไม่มีทีมงานด้านเศรษฐกิจเลย อดีตนายกฯทักษิณไม่ได้มีพวก ดร.ที่เคยล้อมหน้าล้อมหลังเหมือนแต่ก่อน และไปไหนก็ดูเหมือนไปตัวคนเดียว จะมีรมต.ติดตามเพียงไม่กี่คน และไม่กี่คนนั้นยังไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์เรื่องเศรษฐกิจให้เห็น
ส่วนนายกฯแพทองธาร เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่มีทีมงานที่ปรึกษาที่จะช่วยบริหาร หรือให้คำแนะนำด้านเศรษฐกิจอยู่เลย หลายเรื่องที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ และการเงิน จึงตอบไม่ได้สักครั้ง แค่มีวาทกรรมว่า “คนไทย มีกินมีใช้” ไม่ช่วยให้คนไทยมีกินมีใช้ได้จริง เพราะนายกฯไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง
เอาจริงๆ ภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าของประเทศไทย และเศรษฐกิจโลกโดยรวม มีปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ามากมาย เฉพาะบิ๊กบราเธอร์อย่างสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่าแน่ๆ ยังต้องหาตัวช่วย และระดมสรรพกำลังมากมายเพื่อเปลี่ยนทฤษฏีการบริหารเศรษฐกิจประเทศใหม่
ส่วนเศรษฐกิจประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับผู้นำ อย่างเราๆ ท่านๆ เต็มที่ก็แค่ต้องเก็บเงินสดไว้ ระมัดระวังมิจฉาชีพ อย่าลงทุน สิ่งใด เป็นภาระ หรือต้นทุนที่ไม่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ตัดใจเฉือนมันออกไป
สำคัญคือ ต้องถือคติ “เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด”