“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เชื่อ “ทักษิณ” ปรารถนาดี ปมส่งคนจัดการ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำรัฐบาลดำเนินการทั้งฝ่ายปฏิบัติการ-นโยบาย ประสานงานกัมพูชาตลอด เตรียมหารือ “แบงก์ชาติ” หน่วงเงิน ป้องกันมิจฉาชีพ
วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เมื่อเวลา 11.00 น. ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดบนเวทีปราศรัยที่จ.เชียงใหม่ว่า จะส่งคนไปดำเนินการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้านว่า นายทักษิณ พูดบนเวทีปราศรัยถือเป็นความปรารถนาดีที่นายทักษิณได้เล็งเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาหนึ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข โดยต้นตอของปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่ปอยเปต โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในฐานปฏิบัติการ ซึ่งทุกคนทราบปัญหานี้ดี และต้องแก้ไข
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็กำลังดำเนินการในเรื่องนี้ และความเป็นจริงเราได้พูดคุยกับประเทศกัมพูชาอยู่ตลอด รวมถึงมีการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายปฏิบัติการ และฝ่ายความมั่นคง ทั้งตำรวจ-ทหาร กับกัมพูชา รวมถึงการทำงานร่วมกันของฝ่ายนโยบาย คือกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ได้พูดคุยกับทางกัมพูชาด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นดูเวลาและจังหวะที่เหมาะสม คงจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อถามว่า นายทักษิณบอกว่า จะเห็นผลการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ได้ในปีหน้า นายประเสริฐ กล่าวว่า เราอยากให้เห็นผลในปีหน้า เพราะเรื่องเหล่านี้กัดกร่อนคนไทยมานาน และไปใช้ฐานที่มั่นในต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง
...
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช., กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่มีการปราบปรามตามแนวตะเข็บชายแดนอยู่ตลอด โดยปัจจุบันนี้มิจฉาชีพได้ใช้ดาวเทียมแบบวงโคจรต่ำ เช่น Starlink ที่เข้าไปยิงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็นับเป็นปัญหาเหมือนกัน แต่ก็มีการตามจับอยู่ ซึ่งไม่ต้องกลัวในเรื่องนี้
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องสายสัญญาณก็มีการตรวจสอบอยู่ตลอด ซึ่งตนได้พูดคุยกับ กสทช. และจะมีการปฏิบัติการทุกเดือน
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะมีการกดดันไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องการหน่วงเงินหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า มีแนวทางอยู่ ซึ่งเรื่องของการหน่วงเงินเป็นเรื่องที่มีข้อเสนอมาจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยภายหลังจากที่รัฐบาลได้เสนอเป็นพระราชกำหนด ซึ่งตอนนี้ได้เสนอไปหลายเรื่อง ทั้งการดำเนินการทางธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล, การเพิ่มโทษ, การเยียวยา และข้อสุดท้ายในกฎหมายดังกล่าวคือ การให้ธนาคารพาณิชย์กับโอเปอเรเตอร์มีส่วนรับผิดชอบ แต่ต้องมีการลงรายละเอียดเพิ่มเติม โดยต้องดูว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากระบบธนาคารไม่มีความปลอดภัย หรือประชาชนประมาท ซึ่งต้องดูเหตุและผลด้วย โดยในปีหน้าก็จะได้เห็นแน่นอน โดยขณะนี้ร่างพระราชกำหนดดังกล่าวได้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยได้เสนอไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และมีความตั้งใจให้บังคับใช้ได้ในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งจะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน
เมื่อถามต่อว่าในร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวมีการกำหนดจำนวนเงินความเสียหายหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่ได้ระบุเรื่องวงเงิน เพราะเป็นรายละเอียดปลีกย่อย โดยในกฎหมายต้องเขียนเรื่องหลักการก่อน
ส่วนใครจะเป็นผู้ชี้ขาดว่า กรณีไหนเกิดจากความประมาทของประชาชน หรือความหละหลวมของธนาคารนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า ในกรณีที่สถาบันการเงินกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่คณะกรรมการให้ไว้ ก็ถือว่ามีความผิด เช่น ในการส่งข้อความ SMS ที่จะต้องระบุชื่อผู้ส่งให้ชัดเจน และต้องลงทะเบียนกับโอเปอเรเตอร์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ต้องขึ้นศาลฯ ก็ได้ เพราะมีระเบียบกำหนดไว้อยู่แล้ว