ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้อง “เสฐียร ศรีเมือง” และ “สุวิทย์ เหมตะศิลป” ปม กล่าวหา กกต. จัดเลือก สว. ปี 66 ไม่สุจริตเที่ยงธรรม
วันที่ 25 ธ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา กรณีนายเสฐียร ศรีเมือง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เรื่องพิจารณาที่ ต. 76/2567 ว่าการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” (ผู้ถูกร้องที่ 1) เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของผู้ร้อง ในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (4) และ (6)
2. การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองกลาง (ผู้ถูกร้องที่ 2) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 188 มาตรา 191 มาตรา 197 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 215
3. การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ถูกร้องที่ 3) ที่ยุติเรื่องร้องเรียนโดยไม่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้อง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 มาตรา 221 มาตรา 230 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และมาตรา 231
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
...
สำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการใช้อำนาจของผู้พิพากษาหรือตุลาการที่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 วรรคสอง ประกอบกับเป็นเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (4) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 233
ส่วนการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 3 เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องอาจใช้สิทธิทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
นอกจากนี้ในกรณี นายสุวิทย์ เหมตะศิลป (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (ผู้ถูกร้องที่ 3) ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ควบคุมและจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 และมาตรา 224 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้อง
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นเรื่องการดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้องอาจใช้สิทธิทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย