“ทวี” ยิ้มรับฉายา “ทวีไอพี” ปัดสองมาตรฐาน เผย พักโทษมีทุกเดือนแต่ไม่เป็นข่าว ยัน 12 เจ้าหน้าที่มั่นใจสู้คดีใน ป.ป.ช. ไม่หวั่นแพทยสภาลุยสอบวิชาชีพปมชั้น 14 สั่ง “ดีเอสไอ” ตรวจสอบข้อเท็จจริง รื้อคดี “แตงโม” ก่อนยื่นอัยการสูงสุดหรือไม่
เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 24 ธันวาคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงฉายา “ทวีไอพี” ที่สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลตั้งให้ ว่า ต้องขอบคุณในฐานะที่ตนเป็นบุคคลสาธารณะ แต่อยากให้สนใจการทำงานของ รมว.ยุติธรรม หากมองในแง่บวก IP คือ Internet public ซึ่งอยากใช้ฉายานี้ให้เป็นประโยชน์ เพราะต้องการนำความยุติธรรมไปถึงประชาชน สิ่งที่อยากจะทำในปีใหม่นี้คือ การขจัดปัญหายาเสพติด คงไม่เรียกว่าสงครามยาเสพติด แต่จะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ประชาชนมีความปลอดภัย รวมถึงความยากจน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมดูเรื่องหนี้สินและการขจัดผู้มีอิทธิพลและคอร์รัปชัน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เร็วเพื่อประชาชนทุกคน
ผู้สื่อข่าวถามต่อไป ความยุติธรรมถูกมองว่าสองมาตรฐาน และเป็นความยุติธรรมที่เข้าถึงเฉพาะบุคคล พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า ยังไม่เคยมีใครที่ไม่เคยเข้าไปช่วยเหลือ เพียงแต่อาจมีความรู้สึก หากดูเรื่องการพักโทษ ก็ได้ให้นโยบายว่าหากใครที่เข้าเกณฑ์โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งในแต่ละเดือนค่อนข้างมีมาก โดยตามกฎหมายการพักโทษคือยังรับโทษอยู่ เพียงแต่เราเชื่อว่าเขาจะไม่ไปก่ออาชญากรรม หรือบางคนมีอาการเจ็บป่วย หากใครคิดว่าไม่เป็นธรรมและมองว่าเป็นสองมาตรฐาน ถ้าเราเข้าช่วยเหลือได้ก็จะช่วยเหลือเต็มที่ ส่วนที่มีการมองว่ากลุ่มการเมืองจะได้รับการพักโทษเป็นลำดับแรกนั้น ไม่น่าจะใช่ การพักโทษมีอยู่ทุกเดือนเพียงแต่ไม่ได้ออกมาพูดหรือเป็นข่าว ซึ่งยังเชื่อในการสำรวจความคิดเห็นและความเชื่อมั่นของประชาชน แต่ภาพที่เห็นก็จะนำไปปรับปรุงในการทำงาน
...
เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มต่อต้าน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งรัดให้ตรวจสอบ 12 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นข้อเสนอของกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ทางกรมราชทัณฑ์ได้เชิญไปประชุม และได้พบกับเจ้าหน้าที่ 12 คน ทุกคนมีความมั่นใจเพราะทำตามระเบียบและกฎหมาย เชื่อมั่นว่ามีพยานหลักฐานสำหรับในส่วนของราชทัณฑ์ ส่วนโรงพยาบาลตำรวจตนย้ำเสมอว่าได้เห็นหลักฐานในช่วงที่ครบรอบ 120 วัน คณะกรรมการก่อนที่จะมีการพิจารณาได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเรื่องการป่วย ซึ่งเป็นทีมแพทย์ทั้งหมด ตนเชื่อมั่นว่าหากมีหลักฐานที่ปรากฏตามที่ตนเห็น และส่งไปให้ ป.ป.ช. จะเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้
ทั้งนี้ ต้องเรียนว่า นายทักษิณ ต้องราชทัณฑ์ 6 เดือน แม้จะไม่ได้อยู่ในเรือนจำ แต่เราได้เขียนกฎหมายและกฎกระทรวงเอาไว้ให้โรงพยาบาลเป็นที่ควบคุม รวมทั้งมีหนังสืออายัดตัวด้วย เป็นมุมที่กรมราชทัณฑ์ได้ทำตามมาตรฐาน ส่วนภาพของ นายทักษิณ ที่ดูแข็งแรงมากจนไม่เหมือนคนป่วยนั้น นั่นเป็นอีกประเด็น บางคนมองภาพภายนอกดูแข็งแรงแต่ภายในอาจป่วย เราต้องเชื่อแพทย์ ทุกอย่างต้องเชื่อแพทย์ และเราไม่ได้เชื่อทั้งหมดเพราะแพทย์ แต่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งตนเปิดเผยไม่ได้ โดยในระหว่างประชุม แพทย์ที่เข้าประชุมได้ชี้ว่าตรงนี้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผล MRI
ส่วนกรณีแพทยสภา ตรวจสอบว่าแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจได้ปฏิบัติโดยยึดตามหลักวิชาชีพหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า เราต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง อย่าไปอยู่บนความกลัว เชื่อมั่นว่าถ้าทุกคนได้รับความจริง เขาก็ต้องใช้ดุลยพินิจ ซึ่งเราเคารพทุกหน่วยงาน เมื่อถามย้ำว่าหากแพทย์ทำตามหลักวิชาชีพถูกต้องตามกระบวนการก็ไม่มีอะไรต้องกลัวใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เราเชื่อมั่นในการทำงาน และเป็นการทำงานตามปกติ แม้ขณะนั้นตนไม่ได้เป็น รมว.ยุติธรรม แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งได้เห็นหลักฐานและดูอย่างละเอียด รวมถึงให้ฝ่ายกฎหมายได้ตรวจสอบด้วย
ขณะที่กรณี นายทักษิณ จะขออนุญาตศาลอาญาออกนอกประเทศเพื่อไปพบกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีคดีประมวลกฎหมายมาตรา 112 พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า ตนไม่ทราบและไม่ได้ติดตาม หากศาลห้ามไปก็ต้องขออนุญาตศาล
นอกจากนี้ กรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ขอให้กระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอรื้อคดีเสียชีวิตปริศนาของ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม รมว.ยุติธรรม เผยว่า เท่าที่มายื่นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรม เหมือนจะให้ รมว.ยุติธรรม ทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด แต่ในเบื้องต้นได้ส่งไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้สื่อข่าวถามต่อไป ดูรายละเอียดแล้วมองว่ามีข้อมูลอะไรที่จะสามารถรื้อฟื้นคดีได้บ้างหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นถึงขนาดนั้น แต่เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งก่อนที่ตนจะทำหนังสือไปยังอัยการสูงสุดจะต้องมีการตรวจสอบเสียก่อน ในคำถามว่าจะมีการวางกรอบเวลาให้ดีเอสไอในการตรวจสอบกี่วัน พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ต้องสั่งให้ทำเร็ว เพราะบางเรื่องเป็นคำพิพากษาของศาล ดังนั้นต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทวี ยังเปิดเผยถึงของขวัญปีใหม่ของกระทรวงยุติธรรม ที่นำมามอบให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า มอบไปแล้ว เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติของกระบวนการยุติธรรม ส่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรัฐมนตรีต่างๆ ก็เอาส่วนของหน่วยงานตนเองมาแลกเปลี่ยนกัน.
(แฟ้มภาพ)