การเมืองระดับท้องถิ่นเริ่มคึกคักขึ้นมาโดยลำดับ หลังจากมีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มา 29 จังหวัด วันนี้มาถึงลอตใหญ่ กกต.ประกาศสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกและ นายก อบจ.ที่เหลืออยู่พร้อมกันทั้งประเทศ 47 จังหวัด ระหว่างวันที่ 23 ถึง 27 ธันวาคม เลือกตั้ง 1 กุมภาพันธ์

อาจเป็นเพราะพรรคภูมิใจไทยเป็นผู้ควบคุมการบริหารกระทรวงมหาดไทย จึงไม่พูดถึงการกระจายอำนาจ จากส่วนกลาง สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับเปิดทางไว้ เพราะพรรคภูมิใจไทยเป็นผู้นำสายอนุรักษ์นิยมตัวพ่อ ยืนยันที่จะปกครองประเทศตาม “ระบบรัฐราชการรวมศูนย์”

รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เรียกกันว่า “ฉบับประชาชน” และฉบับ 2550 เขียนเปิดทางไว้ว่า ให้กระจายอำนาจสู่ อปท. ให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินกิจกรรมของท้องถิ่นได้เอง ให้ อปท.มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามนโยบายพื้นฐานของรัฐ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อม ให้เป็น อปท.ขนาดใหญ่ ตามเจตนารมณ์ของประชาชน

กรุงเทพมหานครเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่ได้รับพัฒนาเป็น อปท.ขนาดใหญ่ให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาชิกสภา กทม. ตั้งแต่ปี 2518 ผ่านมาแล้วเกือบ 50 ปี กทม.จึงเป็นเพียงจังหวัดเดียวของประเทศไทย ที่ไม่มีองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค มีแต่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เช่นเดียวกับนานาประเทศประชาธิปไตย

อีก 76 จังหวัดยังมีการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นครบถ้วน มีผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการส่วนภูมิภาคมีอำนาจสูงสุด แม้จะมีนายก อบจ. ซึ่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ยังอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ว่าฯ ทั้งยังมีเทศบาล มีองค์การบริหารส่วนตำบล และมีกำนันผู้ใหญ่บ้านทับซ้อนกัน

...

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. มาจากการเลือกตั้ง และยังมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทับซ้อนอยู่ เพราะข้าราชการและนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยม ต้องการอนุรักษ์ความทับซ้อน ก่อให้เกิดความขัดแย้งในตำบล สิ้นเปลืองงบประมาณ และเป็นรัฐราชการรวมศูนย์

ดูเหมือนว่ามีพรรคประชาชนเพียงพรรคเดียว ที่พูดถึง “การกระจายอำนาจ” สู่ท้องถิ่น แต่ไม่รู้ว่าจะกระจายอย่างไร ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกจังหวัด เป็น อปท.ขนาดใหญ่ ที่ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญเสนอแนะให้เริ่มต้นที่จังหวัดที่มีความพร้อมทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และด้านสังคม ทำไม กทม.จึงทำได้ และทำได้ดีกว่า

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม