“ลิซ่า ภคมน” นำทีมพรรคประชาชนภาคใต้ ฟังปัญหาหลังน้ำลด ชงเยียวยาภัยพิบัติ 9,000 บาทถ้วนหน้า พร้อมเสนอมาตรการใน 6 เดือน ที่รัฐต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง
วันที่ 22 ธันวาคม 2567 น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ตนและทีมงานพรรคประชาชนภาคใต้ อาทิ นายเจษฎา ทำนองเสนาะ สส.ปทุมธานี, นายปกรณ์ อารีย์กุล อดีตผู้สมัคร สส.นครศรีธรรมราช, นายวิจักษณ์ พฤกษ์สุริยา รองเลขาธิการภาคใต้ ลงพื้นที่หลายตำบลใน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังปัญหาชาวบ้าน หลังประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพี่น้องทุกตำบลมีอัตราการเยียวยาไม่สอดคล้องกับความเสียหายจริง เราได้เสนอให้ประเมินและเยียวยาตามความเป็นจริงแก่ประชาชน รวมถึงในพื้นที่ที่ประกาศเป็นภัยพิบัติต้องได้รับเงินเยียวยา 9,000 บาทถ้วนหน้า แม้น้ำจะไม่เข้าบ้านแต่เขามีต้นทุนอื่นที่ต้องจ่ายเช่นกัน
ทั้งนี้ ทางเราจะใช้คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ผลักดันเรื่องนี้ต่อไป นอกจากทรัพย์สินเสียหายแล้ว สภาพจิตใจของประชาชนก็ควรได้รับการเยียวยา หลายหมู่บ้านต้องระแวดระวังน้ำท่วมปีละ 6 ครั้ง หลายคนท้อแท้บ้านพังเสียหายเพราะโครงการผันน้ำที่ก่อสร้างไม่เสร็จ ขวางทางระบายน้ำในชุมชน เช่น ทำให้ ต.ไชยมนตรี ท่วม 100% อีกปัญหาที่พบคือประตูระบายน้ำที่สำคัญของ จ.นครศรีธรรมราช เปิดช้า และขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นคอขวด ไม่มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำถาวรเอาไว้ ทำให้เมื่อต้องการระบายน้ำต้องรอขนย้ายเครื่องจักรมาติดตั้ง ล่าช้า รวมถึงความไม่แม่นยำในการแจ้งเตือน
...
น.ส.ภคมน กล่าวต่อไปว่า เราเองได้เสนอว่าภายใน 6 เดือนนี้สิ่งที่รัฐต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ คือ
1. การจัดทำแผนจำลองประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมในอนาคตอย่างแม่นยำ
2. เตรียมพื้นที่ระบายน้ำล่วงหน้า โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่ม และปรับปรุงถนนที่สร้างขวางทางน้ำ
3. จัดทำข้อมูลพยากรณ์ระดับตำบล ระดับอำเภอ เพื่อแจ้งข้อมูลอย่างละเอียดล่วงหน้าแก่ประชาชน
4. เตรียมความพร้อมข้อมูลและอบรมบุคลากรในระดับท้องถิ่นเจ้าหน้าที่หน้างานในการตัดสินใจว่า น้ำถึงปริมาณเท่าไรจึงต้องอพยพ และจะอพยพไปไหน อพยพอย่างไร สร้างองค์ความรู้นี้ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ ตนรับปากว่าทุกความทุกข์ร้อนของพี่น้องนครศรีธรรมราช ที่รับมาจะเอาไปขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหา หรืออย่างน้อยที่สุดปัญหาต่างๆ ที่นำมาต้องเห็นแนวทางแก้ไข ไม่ฟังแล้วทิ้งแน่นอน.