“จิรพงษ์” เตือน ตระเวนรักษา หวังนำยาจากโครงการ 30 บาทมาขาย ติดคุกหัวโตทั้งคนขาย-คนซื้อ ชี้ สปสช. มีข้อมูลผู้รักษาหมด ดำเนินคดีย้อนหลังได้ จ่อชงดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ยา 

วันที่ 22 ธันวาคม 2567 นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีผู้นำยาในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ มาโพสต์ขายในโซเซียล ว่า การแอบลักลอบจำหน่าย ตนขอเตือนว่า ติดคุกหัวโตแน่นอนทั้งคนขายและคนซื้อ โดยจากการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายทางด้านสาธารณสุข จาก 30 บาทรักษาทุกโรค ขยายเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกที่ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลที่สังกัดทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภายในปีนี้จะแล้วเสร็จ และจะประกาศผลสำเร็จในเดือนมกราคม 2568

นายจิรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กำลังดำเนินหลักการเชื่อมต่อการถ่ายโอนข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาลที่สังกัดใน สธ. กับหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ที่ไม่ได้สังกัด สธ. เช่นกับทางสถานบริการสาธารณสุขในการกำกับของกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ส่วนเรื่องของการช้อปปิ้งยานั้น ไม่ได้เกิดการกระทำผิดขณะนี้เท่านั้น แต่ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ จากระบบประกันสุขภาพต่างๆ ของรัฐ และผู้กระทำผิดก็ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญามาแล้ว 

“ผมขอเตือนผู้ที่จะใช้ช่องว่างกระทำการดังกล่าวว่า การรับบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ต้องใช้บัตรประชาชนในการลงทะเบียนพิสูจน์สิทธิ และข้อมูลการรักษาการเบิกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ก็จะเข้าสู่ระบบการเงิน FDH ของ สปสช. ซึ่งสามารถตรวจทานเพื่อตรวจจับผู้กระทำผิดได้ง่าย โดยขณะนี้ สปสช. ก็กำลังติดตั้งระบบเตือนอัตโนมัติเพิ่มเติม เพื่อรายงานความผิดปกติของจำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาและการเบิกยาของผู้ป่วย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถตรวจจับการเบิกจ่ายที่น่าสงสัยได้อย่างรวดเร็วขึ้น”

...

สำหรับการทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด 3 มาตรา 341-318 โทษจำคุกสุงสุดไม่เกิด 3-5 ปี ถ้าเบิกยาหลวงไป 10 ครั้ง ก็ติดคุก 50 ปีแน่นอน มากไปกว่านั้นตนในฐานะอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงาน ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเสนอให้ สปสช. ดำเนินการแจ้งความผู้กระทำผิดในฐานการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมาตรา 12 มีโทษตามมาตรา 101 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี รวมถึงบังคับใช้ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย สำหรับผู้ซื้อยาจากผู้กระทำผิดขอให้ไปรับการรักษารับยาตามสิทธิที่ท่านมีอยู่ ไม่จำเป็นที่ต้องมาจ่ายเงินใดๆ โดยเฉพาะการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่.