คดี ส.จ.โต้ง นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ ถูกยิงเสียชีวิตในบ้านนายสุนทร วิลาวัลย์ หรือ “โกทร” อบจ.ปราจีนบุรี อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข และ สส.พรรคภูมิใจไทย กลายเป็นข่าวโด่งดังติดต่อกันหลายวัน เพราะมองว่าเป็นคดีฆาตกรรมการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ “บ้านใหญ่” หรือผู้มีอิทธิพลจึงสั่นสะเทือนทั่วประเทศ

ต้นเหตุของคดียังสับสน มีผู้ให้ข่าวหลายมุมมอง ฝ่ายตำรวจปราจีนบุรีมองว่าโกทรกับพวกรวม 7 คน เกี่ยวข้องกับการตายจึงจับกุมเพื่อดำเนินคดี แต่มีบางคนไม่เชื่อว่านายสุนทรจะเกี่ยวข้อง เพราะเป็นพ่อของ ส.จ.โต้ง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน ถ้าเป็นการขัดแย้งทางการเมือง ก็คือการขัดแย้งระหว่าง ส.จ.โต้งกับโกทร

เป็นเรื่องที่ว่า ส.จ.โต้งแจ้งต่อโกทร ในฐานะผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ว่าต้องการให้ภรรยา คือ น.ส.ณภาภัช อัญชสาณิชมน ให้สมัครนายก อบจ.ปราจีนบุรี ในนามพรรคเพื่อไทยอาจสร้างความไม่พอใจให้โกทรหรือไม่ หลังจากสามีถูกยิง น.ส.นภาภัช หรือ ส.จ.จอย ยืนยันว่าจะสมัครนายก อบจ.ในนามพรรคเพื่อไทยแน่นอน

คดีนี้ไม่ใช่คดีฆาตกรรมการเมืองธรรมดา แต่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลด้วย หลักฐานชัดเจนที่สุดคือการที่ ส.จ.จอย ร้องขอให้โอนคดีไปให้ตำรวจกองปราบปรามฯรับผิดชอบ เพราะไม่ไว้วางใจตำรวจท้องที่ ขณะนี้คดีจึงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจกองปราบปรามฯ จึงถูกมองว่านอกจากเป็นการเมืองแล้วยังเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลด้วย

กลายเป็นคดีที่สั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ เป็นคดีฆ่ากันตายเพื่อช่วงชิงอำนาจ ผิดทั้งกฎหมายอาญาและกติกาประชาธิปไตย เพราะการต่อสู้เพื่ออำนาจในสังคมประชาธิปไตย จะต้องต่อสู้แบบสันติวิธี ที่บางคนเรียกว่า “สันติประชาธรรม” และขัดหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาก็ยึดถือแนวทางสันติวิธี

...

การต่อสู้เพื่ออำนาจในประเทศ ไทย เช่น การเลือกตั้ง แม้จะมีการทำผิดกฎหมายอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้ “บัตรเลือกตั้ง” หรือ ballot ผู้ที่ได้บัตรเลือกตั้งมากที่สุดเป็นผู้ชนะ ไม่ได้การต่อสู้ด้วย bullet คือลูกปืน ซึ่งผิดกฎหมาย การได้บัตรเลือกตั้งมากที่สุดก็อาจผิดกฎหมายได้ ถ้าได้มาด้วย “การซื้อเสียง”

ทันทีที่ทราบว่ามีการตายเกิดขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยออกข่าวว่า ส.จ.จอยจะสมัครเป็นนายก อบจ.ปราจีนบุรี ในนามพรรคเพื่อไทย ได้ระบุทันทีว่าเป็นเมืองอิทธิพลต้องปราบปรามให้สิ้น มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อปราบปราม โดยมีนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้นำ หวังว่าจะไม่เป็นผู้มีอิทธิพลเสียเอง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม