ที่ประชุมร่วมรัฐสภา รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อช่วยเหยื่อผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก ช่วยในการปล่อยตัวชั่วคราว และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมศาลทหาร
เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 20 ธ.ค. 2567 มีการประชุมรัฐสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พร้อมกันจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาทำนองเดียวกัน ผู้เสนอคือ ครม. และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และคณะ โดยนายมงคล แจ้งที่ประชุมรัฐสภา ทั้งสองฉบับจะพิจารณาพร้อมกัน โดยแยกลงมติในขั้นรับหลักการแต่ละฉบับ ตามข้อบังคับ ข้อ 33 วงเล็บ 1 และวงเล็บ 3
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะตัวแทน ครม. ชี้แจงหลักการและเหตุผลตอนหนึ่งว่า การฟ้องคดีปิดปาก คือการขัดขวาง คุกคาม โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ยับยั้ง ข่มขู่ประชาชนที่แจ้งเบาะแส ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ แม้ปัจจุบันมีการให้ความคุ้มครองการแจ้งเบาะแสทุจริต รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ประกอบกับ พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และมาตรา 132 แต่มีผลเพียงประชาชนผู้แจ้งเบาะแสแล้วถูกฟ้องปิดปาก ต้องไปต่อสู้ด้วยตนเองจนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนอยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 132 แต่กฎหมายไม่ได้บัญญัติกลไกให้ความช่วยเหลือระหว่างประชาชนถูกฟ้องคดี ดังนั้น ร่าง พ.ร.ป. นี้ จึงมีกลไกคุ้มครองผู้ที่ชี้ช่องเบาะแสทุจริต เป็นหลักเกณฑ์สำคัญป้องกันผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก เมื่อถูกร้องกล่าวโทษ ฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัย จากการให้ข้อมูลเบาะแสทุจริต ที่ได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย และได้รับความช่วยเหลือในการต่อสู้คดี เช่น การจัดหาทนายความ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่อสู้คดี ให้ความช่วยเหลือในการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น
...
ด้านนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม. พรรคปชน. ชี้แจงแทนนายวิโรจน์ ตอนหนึ่งว่า โดยหลักการ เพื่อยกเลิกการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับผู้กล่าวหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร โดยยกเลิก มาตรา 96 และกำหนดให้บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีก่อนวันที่จะตรา พ.ร.ป. นี้บังคับใช้ ให้โอนไปยังอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการ โดยเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ที่ผ่านมามีปัญหา อาทิ ใน พ.ร.บ.อุ้มหาย มีมาตรา 34 บรรดาคดีที่กระทำผิดใน พ.ร.บ.อุ้มหาย เช่น กรณีการซ้อมทรมานในค่าย การบังคับพลทหาร หรือซ้อมทรมานให้ถึงแก่ชีวิต เข้าข่ายกระทำความผิดฐานประพฤติมิชอบ สามารถนำไปขึ้นศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ แต่ตอนนี้ ยังไม่มีเรื่องสักเคสเดียวที่ถึงศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะอัยการไม่เข้าใจกระบวนการขั้นตอน ก็จะส่งฟ้องไปที่ศาลทหาร ดังนั้น หนึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว คือการนับหนึ่งให้อัยการสูงสุดเป็นอัยการทหารแทน ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ บุคคลใดก็ตามที่ใช้อำนาจรัฐในการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงยังแก้ไขความลักลั่นโครงสร้างศาลทหารซึ่งยังไม่มีแผนกที่จัดตั้งเกี่ยวกับการทำงานด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่มีอัตรากำลังพลและภาระงานที่รับผิดชอบเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ซึ่งรับผิดชอบรูปแบบของไม่เชี่ยวชาญคดีพิเศษ ๆ แบบนี้ เป็นต้น
บรรยากาศการอภิปรายสมาชิกรัฐสภา ส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยกับเนื้อหาของทั้ง 2 ร่าง ใช้เวลาอภิปรายประมาณ 3 ชั่วโมง สุดท้ายที่ประชุมลงมติรับหลักการร่างทั้ง 2 ฉบับ และตั้งคณะ กมธ. วิสามัญฯ จำนวน 39 คน กำหนดเวลาแปรญัตติจำนวน 15 วัน จากนั้นประธานรัฐสภา สั่งปิดประชุมในเวลา 15.42 น.