“รมว.นฤมล” เปิดสัมมนา “ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาส” ชง 6 ด้าน พัฒนาเกษตรกร ต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมมือทุกภาคส่วน

วันที่ 19 ธ.ค. 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษงานสัมมนาใหญ่ประจำปีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) “ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 Unbox & Unlock Thai Agriculture : ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาส” โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด เข้าร่วม ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันไทยมีเนื้อที่ทางการเกษตรรวม 147.73 ล้านไร่ หรือร้อยละ 46.7 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรกว่า 30 ล้านคน เป็นแรงงานเกษตร 19.72 ล้านคน และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรประมาณ 7.9 ล้านครัวเรือน โดยในปี 2566 GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8.58 ของ GDP ทั้งประเทศ ลดลงจาก 10 ปีที่แล้ว ซึ่ง GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนที่ร้อยละ 11.32 แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรจะลดลง แต่มูลค่า GDP ภาคเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นจาก 660,365 ล้านบาท ในปี 2556 เป็น 693,834 ล้านบาท ขณะที่ภาคเกษตรไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้น การเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกา อาจทำให้สงครามทางการค้ากลับมามีความรุนแรงอีกครั้ง ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ยังเผชิญกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนกฎกติกาด้านการค้าและการลงทุนของโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

...

สำหรับแนวทางการปลดล็อกและพัฒนาภาคเกษตร จะต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทาง ดังนี้ 1) การรับมือกับภัยธรรมชาติ มีการวางแผนและดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การป้องกัน แก้ไขปัญหา และฟื้นฟู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2) การประกันภัยสินค้าเกษตร โดยการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน 3) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง 4) การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของ BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EUDR CBAM และ Carbon Credit การแก้ปัญหา PM 2.5 ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน 5) การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง การสร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 6) การพัฒนาเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรในระดับโลก โดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์ เตือนภัย และเฝ้าระวังปัจจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อการทำการเกษตร และ 7) การปรับปรุงกฎระเบียบ/กฎหมาย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการศึกษากฎระเบียบและกฎหมายของประเทศคู่ค้าที่จะมีผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย เพื่อการปรับตัวและเตรียมการให้ทันต่อสถานการณ์

“ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และยังสามารถมีการส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยผลิตอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารด้วย ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นเทรนด์การบริโภคของโลก จึงถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะต้องเร่งพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ทั้งในเรื่องดินและน้ำ รวมถึงมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้” ศ.ดร.นฤมล กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร ทั้งในเรื่อง GDP และจำนวนประชากรในประเทศ โดยในภาคเกษตรถือเป็นต้นทางของทุกภาคการผลิต แต่ภาคการเกษตรกลับมีตัวเลข GDP ที่น้อยกว่าภาคการผลิตอื่น ๆ ซึ่งจากการคาดการณ์ของสำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ย. 67) หากรวมทุกสาขาการผลิต ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ คาดว่าในปี 2567 นี้ ภาคเกษตรจะสามารถขยายตัวได้ถึง 2.6% จึงต้องมีการหารือทุกภาคส่วนในการคำนวณ GDP ในอนาคตต่อไป