“พริษฐ์” ไม่แปลกใจหลังมีข่าว “บิ๊กป้อม” ไม่ร่วมวงดินเนอร์ฝ่ายค้าน เพราะประชุม สส. ก็แทบไม่มา ก่อนเข้าทำเนียบรัฐบาลฝากนายกฯ โน้มน้าว สส.-สว. ทำประชามติ 2 ครั้ง ให้ทันเลือกตั้งปี 70
วันที่ 16 ธันวาคม 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีพรรคประชาชน นัดพรรคร่วมฝ่ายค้านดินเนอร์หารือการทำงาน ว่า การทำงานของการเมืองฝ่ายค้านจะเป็นคนละรูปแบบรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะใกล้ชิดแนบแน่นกว่า แต่ฝ่ายค้านก็เป็นพรรคที่เหลือ อาจจะมีจุดยืน นโยบาย อุดมการณ์ที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีการหารือในการทำงานกันเป็นระยะเพื่อให้งานราบรื่น
ส่วนการเข้าร่วมของพรรคพลังประชารัฐนั้น ผู้สื่อข่าวระบุกับ นายพริษฐ์ ว่าได้รับคำยืนยันจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะไม่เข้าร่วม จึงถามถึงมุมมองที่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญในพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่นั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มาก็ไม่แปลกใจ เพราะเวลาประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็แทบไม่มาอยู่แล้ว เมื่อประชาชนเห็นชื่อพรรคก็คงทราบอยู่แล้วว่าจุดยืนและนโยบายกับภาคประชาชนก็จะต่างกัน แต่การทำงานธุรการตนก็อยากให้มีความราบรื่น
...
ขณะที่คำถามว่าการทำงานในฐานะฝ่ายค้านจะแยกเป็นเอกเทศกับพรรคพลังประชารัฐเลยหรือไม่ นายพริษฐ์ ระบุว่า การทำงานของฝ่ายค้านต่างจากรัฐบาล เพราะเป็นพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ ถือเป็นเรื่องปกติที่พรรคฝ่ายค้านจะมีจุดยืนที่ต่างกัน ความคาดหวังในจุดยืนที่เหมือนกันคงมีไม่มาก สำหรับเรื่องถึงการอภิปรายซักฟอกรัฐบาล นายพริษฐ์ มองว่า พรรคฝ่ายค้านถูกคาดหวังสิ่งนี้จากประชาชน ซึ่งมุมมองการตรวจสอบอาจจะต่างกันไปตามอุดมการณ์และนโยบาย ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงความหมายที่อาจจะไม่จำเป็นต้องมีพรรคพลังประชารัฐ ในการทำงานร่วมฝ่ายค้าน พรรคประชาชนก็จะทำงานได้ดีใช่หรือไม่ นายพริษฐ์ ตอบว่า หากดูการทำงานจากสภาชุดที่แล้ว พรรคก้าวไกล พรรคประชาชน ก็ทำงานฝ่ายค้านมาโดยตลอด พรรคร่วมฝ่ายค้านก็เปลี่ยนมาตลอด ตอนนี้ก็ยังใช้สมาธิในการทำงานอย่างเต็มที่
ต่อมาเวลา 15.30 น. นายพริษฐ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนหารือกับ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า วันนี้มาในฐานะ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการออกหนังสือเข้าพบหลายฝ่าย เพื่อจะขอหารือเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายชูศักดิ์ มาร่วมพูดคุยกับตน ในการหารือเราพยายามที่จะหาทางออกในการที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากขึ้น และสามารถบังคับใช้ได้ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570
ทั้งนี้ จากการหารือกับหลายฝ่ายและคุยในเวทีสาธารณะ จะเห็นว่าหากรัฐบาลเดินตามแผนเดิม จัดทำประชามติ 3 ครั้ง ดูแนวโน้มแล้วมีโอกาสน้อยมากที่จะทันการเลือกตั้งครั้งหน้า และหากสัปดาห์นี้ที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบตามร่างของสภา และเป็นมติที่เห็นต่างจากร่างที่แก้ไขโดยวุฒิสภา ยิ่งจะทำให้ระยะเวลาในการแก้ไขบวกไปอีก 180 วันซึ่งทางออกที่ตนเสนอคือ พยายามลดการทำประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง
ด่านที่หนึ่งคือ ต้องทำให้ประธานสภาทบทวนการตัดสินใจ ซึ่งจากการหารือกับประธานสภาฯ ได้ทราบว่า มีข้อมูลที่ประธานสภายังไม่ได้ใช้ในการตัดสินใจเมื่อตอนต้นปี ที่สำคัญคือความเห็นรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้ยื่นแก้ไข ส.ส.ร. ไปแล้ว โดยในอีกสัปดาห์ข้างหน้าประธานสภาฯ น่าจะมีการนัดหารือร่วมกัน ซึ่งเราก็คาดหวังว่าประธานสภาฯ จะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญ หากผ่านด่านนี้สำเร็จ
ด่านที่สองที่สำคัญคือหากร่างฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่หนึ่ง ทำอย่างไรให้ได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาให้เพียงพอทั้ง สส. และ สว. ตรงนี้คือเหตุผลว่าทำไมตนต้องมาหารือกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร เพื่อหารือในการโน้มน้าว สส. ทั้งรัฐบาลและวุฒิสภา เพื่อเห็นตรงกันในการแก้ไขฉบับใหม่ ที่มีการทำประชามติ 2 ครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามต่อ คิดว่าจะได้ข้อสรุปหรือไม่เพราะรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะทำประชามติ 3 ครั้ง นายพริษฐ์ กล่าวว่า เดี๋ยวต้องรอดูการหารือในวันนี้ น่าจะลดเหลือ 2 ครั้งได้ ต้องรอให้ประธานสภาทบทวนการตัดสินใจ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นปีนี้.