“คุณหญิงสุดารัตน์” ชี้ นายกฯ แถลงผลงานรอบ 3 เดือน นโยบายต้องลงถึงพี่น้องประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้ประโยชน์ ห่วงรัฐแก้ 6 ปมปัญหา ไม่คืบหวั่นหนี้เน่าเพิ่ม
วันที่ 13 ธ.ค. 2567 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวถึงการแถลงผลงานของรัฐบาลรอบ 3 เดือน และครบรอบ 1 ปี 4 เดือนในการบริหารราชการแผ่นดินของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นผลงานหรือการแถลงนโยบาย ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าห่วงใยดังนี้ 1. มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เสียภาคครัวเรือน พรรค ทสท. สนับสนุน แต่ขอให้ระมัดระวัง และกำกับดูแลให้นโยบายลงถึงพี่น้องประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้ประโยชน์ รวมถึงหนี้นอกระบบที่รัฐบาลแก้ไขล้มเหลว และการแถลงนโยบายที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ที่สำคัญหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังไม่เป็นหนี้เสียจัดเป็นกลุ่มปัญหาใหญ่ที่สุด รัฐบาลนี้จะแก้ไขให้ประชาชนอย่างไร 2. การจะแก้หนี้ภาคครัวเรือนได้ ต้องกลับไปปรับโครงสร้างรายได้ให้เกิดความเข้มแข็ง ทั้งในส่วนของ SMEs, ภาคเกษตร, การท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออก รวมถึงการสร้างรายได้ในโลกยุคใหม่ที่เป็นยุคเมกะเทรนด์ เช่น บริการด้านสุขภาพ เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด ลิเธียมและแบตเตอรี่ คลาวด์ เมตาเวิร์ส ซึ่งรัฐไทยต้องเตรียมการเพื่อสร้างเด็กยุคใหม่ และแรงงานที่มีทักษะรองรับการลงทุนเหล่านี้
3. การแจกเงินหมื่น ในรอบสองช่วงต้นปีหน้า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลศึกษาว่าเงินที่แจกไปในเฟสแรกกว่า 1.4 แสนล้านบาทได้ผลสร้างพายุหมุนกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าต้องแลกกับการเติบโตของ GDP เพียง 0.2% นั้น ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย ที่สำคัญกู้มาแจก คือหนี้สินของประชาชนทั้งประเทศ ที่ต้องร่วมกันชดใช้ในอนาคต หากรัฐบาลหมดทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การนำนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เช่น โครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน กลับมาใช้ อาจจะดีกว่าการนำเงินภาษีของประชาชนไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ 4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ของแพงทั้งแผ่นดิน โดยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟ กล้าปฏิรูประบบพลังงาน ให้ประชาชนจะช่วยได้มาก แต่ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการควักกระเป๋าซ้ายจ่ายกระเป๋าขวาแบบชั่วคราว ไม่ใช่การปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่แท้จริง 5. ปัญหาเรื่องยาเสพติด ที่แพร่ระบาด ทำลายเด็กถึงในสถานศึกษา สะท้อนผ่านคดีอาชญากรรมชัดเจน รัฐต้องเร่งทำเชิงรุก ทั้งการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดอย่างจริงจังควบคู่กันไป และ 6. การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ที่ไม่มีผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีการเอื้อประโยชน์ ช่วยเหลือพวกพ้องคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจในรัฐบาล มีให้เห็นชัดเจนต่อเนื่อง จนสังคมตั้งคำถามถึงการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย
...