การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ตามนโยบาย รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังโดย พิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง นอกจากจะโยนหินถามทาง เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 15 และในที่สุดต้องถอยสุดซอย เพราะมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในตอนนี้ เท่ากับมารีดเลือดเอากับปู ข้าวสารจะกรอกหม้อไปวันๆ ยังไม่พอกินพอใช้ กระทรวงการคลังเลยกลับลำ หันมาเน้นการ ลดภาษีนิติบุคคล ลงเหลือร้อยละ 15 จากที่ปัจจุบันจัดเก็บที่ร้อยละ 20 เพื่อเป็นการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ ขณะเดียวกันก็ ลดภาษีบุคคลธรรมดา ให้เหลือร้อยละ 15 เท่ากัน จากปัจจุบันที่จัดเก็บสูงสุดที่ร้อยละ 35 ให้เหตุผลว่าต้องการมันสมองจากต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยให้มากขึ้นด้วย เพื่อ?
เพราะปัญหาความท้าทายในเวลาเร่งด่วนก็คือ หนี้สาธารณะ และ หนี้ภาคครัวเรือน ใกล้จะทะลุเพดานที่ร้อยละ 70 ของจีดีพี ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ปัจจัยจากตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ มีแนวโน้มไปในทางลบมากกว่าบวก ในปี 2568 จะขาดดุลงบประมาณ ถึงร้อยละ 4.45 มากกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อย่างเก่งก็ไม่เกินร้อยละ 3 เท่ากับว่าเครดิตทางการเงินการคลังของเราจะถูกจัดลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเรื่อยๆ
วิธีการแก้ปัญหาโดยตรงก็คือ การหารายได้เพิ่มชดเชยการขาดดุล ในขณะที่จะต้องมีการ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ที่ลดต่ำลงเรื่อยเช่นกัน ประกอบกับ เม็ดเงินลงทุน ในการกระตุ้นจีดีพีของประเทศก็อยู่ในอัตราส่วนที่น้อยมากๆ รายได้จาก การท่องเที่ยว ก็ไม่แน่ไม่นอนจากสภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกไม่ต้องไปพูดถึง ทั้งสงครามการค้า มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษี อัตราแลกเปลี่ยนสารพัด
รัฐบาลพยายามที่จะหาทาง ปลดกับดักหนี้ ทุกวิถีทาง เพราะถ้าปลดกับดักไม่ได้ จะกระทบกับเศรษฐกิจทั้งองคาพยพ ยิ่งแก้ก็ยิ่งบานตะไท มาตรการแก้หนี้ NPL ให้กับ 3 กลุ่มลูกหนี้ คือหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้เอสเอ็มอี พักการจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ลดเงินส่งกองทุน FIDF ลง 50% นำเงินไปชดเชยสถาบันการเงิน
...
เชื่อว่าในที่สุดแล้ว ก็เกาไม่ถูกที่คันอยู่ดี การแก้ปัญหาหนี้ โดยการเข้าไปอุ้มหนี้ ลดภาระหนี้ เท่ากับเป็นการเพาะเชื้อโรคที่กัดกินโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งประเทศ ไม่ถึงขนาดล้มบนฟูก แต่ในระยะยาว จะกลายเป็นพฤติกรรมมักง่ายของลูกหนี้ แก้ปัญหาด้วยวิธีง่ายๆ กู้ยืมเงินมาใช้จ่ายมากกว่าพยายามจะหารายได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง
บ่อเกิดแห่งหนี้ ก็คือ เงินด่วน เงินเร็ว กู้ง่ายใช้คล่องทั้งในระบบและนอกระบบ ที่รัฐบาลอินโดนีเซียก็กำลังประสบปัญหาเดียวกับบ้านเรา ไฟแนนซ์รถยนต์ 1 คัน รีไฟแนนซ์แล้วรีไฟแนนซ์อีก 10 ปีก็ยังผ่อนค่างวดไม่หมด สุดท้ายไม่มีเงินชำระค่างวดก็หนีหนี้กลายเป็นหนี้เสีย ลักษณะเดียวกับสินเชื่อบ้าน ต้นเหตุของหนี้เสียอยู่ที่พฤติกรรมของลูกหนี้ และวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาล หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน จากพฤติกรรมจมไม่ลง
แก้ไม่ถูกโรคจนกลายเป็นดินพอกหางหมู.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม