คงเห็นท่าไม่ดีหากดันทุรังเดินหน้าต่อไปจะทำให้รัฐบาลมีปัญหาได้ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านกันมากโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล

วันนี้รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคที่ต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุน จึงต้องถอยดีกว่าแล้วไปตั้งหลักใหม่

นั่นคือการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมที่นักการเมืองจะเข้าไปควบคุม “กองทัพ” ทั้งหมด

ว่าไปแล้ว

การออกแบบการได้มาซึ่งองค์กรต่างๆ ที่มีความสำคัญก็เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระเพื่อป้องกันการเข้าไปแทรกแซงของการเมือง

ที่ชัดเจนองค์กรอิสระต่างๆตามรัฐธรรมนูญอย่างศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต.ก็มีทางมา โดยรัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจใดๆ ที่จะสั่งการ

แต่จะให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกและให้ความเห็นชอบทั้งหมด

อัยการก็จะมีคณะกรรมการอัยการ (กอ.) เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งอัยการสูงสุดแล้วเสนอให้วุฒิสภาให้การรับรองเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

ศาลยุติธรรมก็จะมีคณะกรรมการตุลาการ (กต.) พิจารณาแต่งตั้งประธานศาลฎีกาและตำแหน่งอื่นเมื่อ กต.พิจารณาเห็นชอบแล้ว

ก็ไม่ต้องผ่านองค์กรใดนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย...

อย่างตำรวจก็เช่นกันก่อนหน้านี้จะขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงให้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน ก.ตร.มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจตั้งแต่ ผบ.ตร.ลงมา

โดยไม่ต้องให้ ครม.เห็นชอบเมื่อ ก.ตร.พิจารณาเห็นชอบแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ

เหล่านี้คือสภาพความเป็นไปที่มีการออกแบบมาเพื่อให้องค์กรที่มีความสำคัญมีความเป็นอิสระไม่ถูกนักการเมืองล้วงลูก

“ทหาร” ก็มาอีกรูปแบบหนึ่งคือจะมี 7 อรหันต์เป็นองค์กรที่จะพิจารณาแต่งตั้งนายทหารทุกเหล่าทัพ โดยไม่ต้องผ่าน ครม.แต่อย่างใด

...

คณะกรรมการ 7 คน ประกอบไปด้วย!

1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม 3.ปลัดกระทรวงกลาโหม 4.ผบ.ทบ. 5.ผบ.ทอ. 6.ผบ.ทร. และ 7.ผบ.ทหารสูงสุด

คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณาบัญชีรายชื่อนายทหารที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายทุกเหล่าทัพ

เมื่อพิจารณาเห็นชอบแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯโดยไม่ต้องผ่าน ครม.เช่นเดียวกัน

นี่เป็นระเบียบปฏิบัติที่ให้ความเป็นอิสระแก่เหล่าทัพในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย โดยมีรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยเป็นกรรมการด้วย

เพราะ “กองทัพ” นั้นมีความสำคัญในด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการพิจารณาตัวบุคคลที่จะขึ้นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจึงต้องให้จัดการกันเอง เพราะจะรู้ว่าคนไหนมีความสามารถและความชำนาญพิเศษในด้านไหน

อีกทั้งจะต้องได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย เพราะในยามศึกสงครามหากหัวหน้าหน่วยสั่งการแล้วต้องปฏิบัติตาม

การที่การเมืองจะเข้าไปล้วงลูกหรือเอาคนของตัวเองเข้าไปคุมอำนาจทำให้เกิดปัญหาในด้านการยอมรับได้

นี่คือหัวใจของเรื่อง...

ดังนั้น การที่การเมืองจะเข้าไปแก้ไขตรงนี้จึงทำให้เกิดปัญหาได้

อีกทั้งการยึดอำนาจ ปฏิวัติ รัฐประหารที่นักการเมืองพยายามหาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นด้วยการออกกฎหมายเพื่อ “ลิดรอน” นั้นจึงเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก

ถ้านักการเมืองไม่เข้าไปล้วงลูก ไม่สร้างเงื่อนไข ไม่ทุจริตโกงกิน

“ทหาร” ก็ทำได้ยากและประชาชนย่อมไม่สนับสนุน!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม