เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกาหลีใต้ ซึ่งเปลี่ยนผ่านการเมืองจากเผด็จการเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบมา 40 กว่าปี
คงไม่มีใครนึกว่าจะย้อนกลับไปสู่ระบบแบบนั้นอีก
แต่ปรากฏว่า ผู้นำประเทศในปัจจุบัน “ยุน ซอกยอล” ประธานาธิบดีที่มีปัญหาทางการเมืองขึ้น ถูกฝ่ายค้านและประชาชนไม่พอใจเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง
ปัญหามีอยู่ว่าเสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคงอยู่แล้ว อีกทั้งเศรษฐกิจก็ตกต่ำ ที่เป็นชนวนเหตุเรื่องก็คือภริยามีปัญหาไปรับของขวัญที่มีมูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ด้วยปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น
เสถียรภาพความไม่มั่นคงของตัวผู้นำและรัฐบาลจึงไม่มีความมั่นคง จนทำให้รักษาอำนาจต่อไปได้ยาก
ก็เลยประกาศ “กฎอัยการศึก” ยึดอำนาจจากสภา
โดยมีกำลังทหารได้เข้ายึดสภาตามคำสั่งรัฐบาล
ทำให้ฝ่ายค้านและประชาชนบุกสภา และกดดันจนต้องประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าว จนทำให้เกิดความไม่สงบ
ฝ่ายค้านได้ยื่นถอดถอนแต่ฝ่ายรัฐบาลยังไม่ยอมพยายามที่จะแก้เกมการเมืองด้วยการออกมาขอโทษและจัดการถ่ายโอนอำนาจ
แต่ดูจากสถานการณ์คงไปไม่รอด!
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บอกให้รู้ว่าการเมืองนั้นไม่มีอะไรแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของ “คน” และ “อำนาจ” ต่อให้มีกฎหมายควบคุมอย่างไร ก็มิอาจห้ามได้
อย่างของไทยนั้นผ่านมาทุกรูปแบบ ทั้งเผด็จการและเลือกตั้งวันนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็พยายามที่จะหาทางไม่ให้เกิดการยึดอำนาจขึ้นมาอีก
จึงมี สส.เพื่อไทยเสนอกฎหมายเพื่อลดอำนาจของกองทัพ หรือทหาร ประเด็นที่พอจะสรุปเอาเนื้อหา
ก็คือ “กองทัพ” จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจการเมือง
การแต่งตั้งโยกย้ายทหารต้องให้ ครม.เห็นชอบ สภากลาโหมต้องมีนักการเมืองเข้าไปร่วมด้วย การยึดอำนาจทำไม่ได้เด็ดขาด
...
เรียกว่า “ปิดประตู” กองทัพทุกมุม...
หากกฎหมายนี้ผ่านสภาจะไม่เกิดปัญหาอย่างที่เกาหลีใต้แน่นอน เพราะทุกอย่างทหารจะไม่มีอิสระเหมือนเช่นปัจจุบัน
ก็มีคำถามว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือ?
คำตอบก็คือ หากนักการเมืองยังไม่สุจริต โกงกินชาติบ้านเมือง หรือสร้างเงื่อนไขที่ทำให้กองทัพถูกบั่นทอน หรือทำให้สถาบันของชาติสั่นคลอน
ว่าไปแล้วกฎหมายหากมีความศักดิ์สิทธิ์ นักการเมืองไม่ชั่วและประชาชนตื่นรู้ทางการเมือง ก็เป็นหนทางที่จะป้องกันได้
อยู่ที่ “นักการเมือง” จะทำได้หรือไม่เท่านั้น?
แน่นอนว่า กฎหมายที่ละเอียดอ่อนอย่างนี้ “กองทัพ” คงไม่ชอบนัก และนักการเมืองบางส่วนก็คงไม่อยากให้มีการดำเนินการในเรื่อง เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขขัดแย้งขึ้นมา
แต่ที่ขานรับก็คือพรรคประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางการเมืองอยู่แล้ว
แต่ “เพื่อไทย” ก็ต้องถามพรรคร่วมรัฐบาลอื่นและ สว.ด้วยว่า มีความเห็นอย่างไร จะไปทำโดดๆเพียงพรรคเดียวหรือร่วมกับพรรคฝ่ายค้านบางพรรคไม่ได้
เพราะนี่เป็นเรื่องใหญ่และเป็นประเด็นที่ล่อแหลม จึงต้องเห็นพ้องร่วมกันจึงจะประสบผลสำเร็จและไม่เกิดความขัดแย้งตามมา
เหมือนกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ยิ่งรัฐบาลที่มี “เพื่อไทย” เป็นแกนนำวันนี้ก็มีปัญหารุมเร้าอยู่แล้ว เศรษฐกิจของประเทศก็ไม่ดี ประชาชนยังมีความทุกข์อยู่
อย่าไปหาเรื่องหรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งดีกว่า!
"สายล่อฟ้า"
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม