เลขาธิการ ป.ป.ช. เผยคืบหน้าตรวจสอบจริยธรรม 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ร่วมลงชื่อแก้มาตรา 112 คาดแล้วเสร็จใน ม.ค. 68 แจง ดูพฤติกรรมทั้งใน-นอกสภา ประกอบคำพิพากษาศาล และดูเป็นรายบุคคล
วันที่ 9 ธันวาคม 2567 นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อดีตพรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เรื่องนี้เราได้ตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมหลักฐาน ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จ คาดว่าเดือนมกราคม 2568 คณะกรรมการไต่สวนจะสามารถสรุปสำนวนเพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ป.ป.ช. ได้
“การสรุปสำนวนจะมี 2 แนวทาง หากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ก็เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา หากเห็นว่าไม่มีมูลเพียงพอ ก็จะสรุปสำนวนให้ข้อกล่าวหาตกไป”
ทั้งนี้ การพิจารณาจะดูข้อกล่าวหาประเด็นฝ่าฝืนจริยธรรม โดยดูพฤติกรรมของแต่ละบุคคลว่ามีส่วนร่วมในการดำเนินการแตกต่างกันไป ป.ป.ช. ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 44 คน ตามที่ถูกร้องเรียนจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด ป.ป.ช. จะไต่สวนในเรื่องการแก้ไขกฎหมายมีพฤติกรรมในการฝ่าฝืน ไม่ได้ระบุว่าทั้ง 44 คนมีพฤติกรรมในเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้วใครมีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็ว่าเป็นรายๆ ไป
...
นายสาโรจน์ ระบุต่อว่า ป.ป.ช. พิจารณาไปทั้งเรื่อง ไม่ได้พิจารณาเป็นบุคคล คือพิจารณาไต่สวนเรื่องนี้ มีบุคคลใดบ้างที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้หมายความว่าเขากระทำความผิด แต่เป็นการให้โอกาสในการชี้แจงข้อกล่าวหา หลังฟังคำชี้แจงแล้วก็จะพิจารณาเป็นรายบุคคลว่ามียังมีบุคคลใดชี้แจงแล้วยังฟังไม่ขึ้น มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในเดือนมกราคมนี้ถึงจะมีความชัดเจน
สำหรับเรื่องของการตรวจสอบการฝ่าฝืนจริยธรรม จะดูพฤติการณ์ทุกมิติ ทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งการเสนอกฎหมายเป็นหน้าที่ อาจจะไม่มีความผิดอะไร เป็นการเสนอปกติ ดังนั้น จะต้องดูพฤติกรรมทุกมิติ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา โดย ป.ป.ช. จะต้องดูพยานหลักฐานทุกอย่าง ข้อมูล รวมถึงคำพิพากษาของศาล ก็ต้องรวมมาพิจารณาอยู่ในสำนวนด้วย.