หน้าต่างการเมืองไทย ณ วันนี้ดูจะมีแต่เรื่องมีแต่ข่าวที่พันกันอยู่ในครอบครัว “ชินวัตร” เท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องในส่วนของ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

บดบังเรื่องของรัฐบาลที่จะทำอะไรให้กับประชาชน

นี่พูดจริงๆนะ...

มีประเด็นหนึ่งทางโซเชียลที่พูดกันในลักษณะเชิงตั้งคำถามว่าทำไมบรรดารัฐมนตรีที่พูดเรื่องงานแล้วจ้องจะบอกว่านายกรัฐมนตรีสั่งอย่างนั้นสั่งอย่างนี้แทบทุกครั้งไป

มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

หากเป็นอย่างนั้นจริงๆ บรรดารัฐมนตรีก็ทำอะไรกันไม่เป็นจะต้องมีคนสั่งให้ทำจึงจะทำได้ ถ้าเป็นแบบนั้น...ก็ไม่ต้องมีรัฐมนตรีแล้ว

หรือจะเป็นการเอาใจนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าก็ดูจะเกินไปเพราะคงไม่มีเวลาไปสั่งการทุกเรื่องทุกกระทรวงได้อย่างนั้น

เอาเป็นว่าเชลียร์กันเกินเหตุมากกว่า

พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็อยากหยิบเรื่องการจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ฮือฮากันได้เพียง 2 วัน เริ่มจากการที่ “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีคลังเปิดประเด็นว่ากำลังศึกษาแนวทางการขึ้นภาษีทั้งระบบ และยกตัวอย่างการขึ้นภาษีแวต 15% จากปัจจุบัน 7%

โดยอ้างว่าเพื่อนำเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นไปดูแลคนยากคนจนและพัฒนาประเทศ

ย้ำว่านี่เป็นเพียงการศึกษาเท่านั้น...

ปรากฏว่าเสียงคัดค้านดังกระหึ่มไปทั้งเมือง ไม่ว่าประชาชนคนทั่วไป ธุรกิจต่างๆ รวมถึงนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย

เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

บางคนบอกว่าขึ้นได้แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป มีขั้นมีตอนและต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่ทำในทันที

นายกรัฐมนตรีบอกว่าให้ไปถามรัฐมนตรีคลัง และบอกว่าเป็นเพียงแค่การศึกษาเท่านั้น

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ประชุมกับที่ปรึกษาเศรษฐกิจ (บ้านพิษณุโลก) โดยมี “ขุนคลัง” ร่วมด้วยหลังประชุมเสร็จ

...

นายกรัฐมนตรีบอกกับนักข่าวว่า “ไม่ขึ้นภาษีแวต 15%”

เป็นอันจบ...

ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่าทำไม “ขุนคลัง” จึงจุดพลุเรื่องนี้ขึ้นมา มันเพราะอะไรทำให้รัฐบาลถูกด่าฟรีว่าเพราะ “ถังแตก” และเอาเงินไปทุ่มกับนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต”

ภาพลักษณ์ของรัฐบาลก็พลอยเสียหายไปด้วย และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเงินที่จะไปดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ที่ได้คือนายกรัฐมนตรี

เพราะกล้าตัดสินใจเมื่อนโยบายของรัฐบาลทำให้ประชาชนเดือดร้อนก็ยุติ แต่รัฐมนตรีคลังเสียหายเพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ลักษณะไม่ต่างกับการชงเรื่องเพื่อให้นายกรัฐมนตรีโดดเด่นที่กล้าตัดสินใจฝ่ายเชิงนโยบาย แต่ความจริงแล้วไม่มีอะไรเลย

เพราะรู้กันดีว่านายกรัฐมนตรีนั้นยังขาดประสบการณ์และเชี่ยวชาญในเชิงลึกด้านต่างๆ ที่ผ่านมาก็ได้จาก “พ่อ” และ “พี่เลี้ยง” รอบตัว

เป็นสภาพความจริงที่ดำรงอยู่!

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงแค่ฉากฉากหนึ่งในทางการเมืองที่รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างผลให้ปรากฏเป็นรูปธรรมได้

ที่สำคัญปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นรุมเร้าไปทุกด้าน

การสร้างข่าวที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจปากท้องประชาชนขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อกลบข่าวอื่นๆ ก็เป็นทางหนึ่ง

แต่สุดท้ายก็มิอาจจะปฏิเสธความจริงไปได้!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม