นานๆทีจึงจะมีข่าวพรรคภูมิใจไทยเสนอร่างกฎหมายในแนวก้าวหน้า แต่วันนี้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเทียม ตามด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะไปรอดหรือไม่ หรือว่าจะประสบชะตากรรมแบบเดียวกับกฎหมายกัญชาเสรี แต่เป็นแนวความคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการการศึกษา เช่น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ เป็นต้น
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มมาใช้ในการเรียนการสอน เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา แต่ถ้าจะทำเรื่องนี้ให้ได้ประสิทธิภาพควรเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงกลุ่มเปราะบางที่สุด เช่น โรงเรียนที่ห่างไกล โรงเรียนบนภูเขาหรือโรงเรียนในเกาะต่างๆ สู่โรงเรียนใหญ่ในเมือง
ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย ครอบครัวคนที่ยากจนที่สุด จบการศึกษาระดับประถม มีรายได้เพียงเดือนละ 1,036 บาท ประมาณ 15% จากประชากรทั้งประเทศ ครอบครัวคนชั้นกลางจบปริญญาตรี มีรายได้ 4,611 ถึง 57,000 บาท ขณะที่ครอบครัวของคนร่ำรวยมีรายได้ประมาณ 290,000 บาท
สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานมีโรงเรียน 29,449 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 14,777 แห่ง โรงเรียนขนาดใหญ่กว่า 9,600 แห่ง ส่วนมากอยู่ในตัวเมืองที่เจริญ มีเด็กออกจากการเรียนในช่วงรอยต่อระหว่างประถมไปมัธยม มีเด็กต้องออกจากโรงเรียนไปขายแรงงานกว่า 20 ล้านคน และไม่ต้องสงสัยว่าอนาคตคือความยากจน
ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆอีกมาก ไม่เหลื่อมล้ำแต่ด้านรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจ แต่เหลื่อมล้ำด้านศักดิ์ศรีและอำนาจ ทั้งอำนาจที่เรียกกันว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” หรืออำนาจทางวัฒนธรรมและการเมือง ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมากกว่า 92 ปี แต่คนจนไร้อำนาจ
เกือบร้อยปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” แต่เป็นประชาธิปไตยที่ล้าหลัง ยึดถืออำนาจเงินเป็นใหญ่ บางพรรคการเมืองทุ่มเงินซื้อทุกอย่าง ทั้งหัวคะแนน ทั้งซื้อเสียง ซื้อ ผู้สมัคร สส. กลายเป็นระบอบธนาธิปไตย ระบบการศึกษาที่เท่าเทียมจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและประชาธิปไตยได้หรือไม่
...
นักวิชาการไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษาหรือนักรัฐศาสตร์ เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเป็นอุปสรรคสำคัญ กระทรวงศึกษาธิการแสดงความเป็นห่วง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเทียม จะได้รับความเห็นจากพรรคอื่นๆหรือไม่ หวังว่าพรรคภูมิใจไทยจะประสบความสำเร็จ ไม่ประสบชะตากรรมแบบนโยบายกัญชาเสรี
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม