ที่ประกาศท้า “ยุบสภา” เนื่องจากไม่พอใจที่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคงอแงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงแค่เกมเพื่อแสดงตัวตนว่าเหนือกว่าเท่านั้น ความจริงไม่มีอะไร...
เพราะทุกพรรคต่างก็ยังไม่ต้องการเลือกตั้งใหม่ เห็นมีก็พรรคประชาชนที่ยืนยันชัดเจนว่าพร้อมเสมอเมื่อใดก็ได้
“เพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาลเวลานี้ สถานการณ์ดูไม่ค่อยจะดีนักเจอปัญหาหลายเรื่อง แม้แต่น้ำท่วมยังเจอดราม่าเข้าไปเต็มๆ
มีความสงสัยว่าการขับเคลื่อนการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” นั้นมีปัญหาอะไรหรือเปล่า
“ห้องเครื่อง” ไม่ทำงานหรือยังไงกันแน่!
มี 2 เรื่องที่ชวนให้น่าสงสัย
1.การตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติจนป่านนี้ยังไม่เสนอ ครม. ให้พิจารณา ทั้งๆที่คณะกรรมการคัดเลือกได้ดำเนินการเสร็จไปตั้งนานแล้ว
“พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีคลังบอกเพียงแค่ว่า เรื่องยังไม่ถึงเขา ก็น่าสงสัยว่าทำไมถึงเดินทางช้าจัง ทั้งๆที่ก็ไม่ไกลกันนัก
2.คณะกรรมการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ตั้งท่ามาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการนำเสนอให้ ครม.พิจารณา
จะว่าหาบุคคลที่เหมาะสมไม่ได้ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะหน่วยงานต่างๆก็มีผู้ชำนาญการพิเศษที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางอยู่แล้ว
จะเป็นเพราะสาเหตุใดก็ตาม แต่ทุกเรื่องล้วนเกี่ยวโยงกับการเมืองในลักษณะคอขาดบาดตายไม่ต่างกัน
จึงจำเป็นต้องดีเลย์ไว้ก่อน...
หรือเพราะต้องผ่านกระบวนการตัดสินใจหลายชั้น ไม่ใช่แต่ที่ทำเนียบเท่านั้น เพราะคนบ้านจันทร์ส่องหล้าก็ต้องร่วมตัดสินใจด้วย
อย่างเรื่องประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั้น เลขาธิการกฤษฎีกาเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังไม่ได้ส่งชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้ตรวจสอบประวัติแต่อย่างใด
...
หรือว่ามีปัญหาอะไรกันแน่ที่ทำให้ดึงเรื่องไว้ก่อน
เพราะที่ผ่านมาจนปัจจุบันไม่มีนักการเมืองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองดำรงตำแหน่งนี้ แต่ “กิตติรัตน์” นั้นแม้พยายามที่จะปฏิเสธว่า เขาไม่ใช่นักการเมืองและพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว
นี่น่าจะเจอ “ของแข็ง” กลางทางหรือเปล่า?
หรือเรื่องคณะกรรมการเจรจาปัญหาพื้นที่ระหว่างไทย-กัมพูชาก็เช่นกัน รัฐบาลยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเสีย “เกาะกูด” แต่อย่างใด
แต่การเจรจาเรื่องนี้ต้องพูดคุยและตกลงเรื่องพื้นที่และผลประโยชน์ไปพร้อมๆกัน เพราะมิฉะนั้นจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ
อีกทั้งรัฐบาลก็ต้องการที่จะเจรจาเพื่อให้เรื่องนี้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นผลประโยชน์ที่มีเงื่อนไขเวลาเป็นเดิมพันด้วย
ที่สำคัญก็คือเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ทางการเมือง ที่ฝ่ายค้านก็ขู่จะยื่นซักฟอกรัฐบาลและการเมืองนอกสภาก็ตอกย้ำในทำนอง
นี่คือเรื่องที่จะทำให้ม็อบ “จุดติด” เพราะมันเกี่ยวข้องกับการเสียดินแดนที่ปลุกเร้าเลือดรักชาติให้พุ่งปรี๊ดขึ้นมาได้
ดังนั้นรัฐบาลจึงยังไม่กล้าผลีผลามแต่รอให้สถานการณ์สงบลงก่อนแล้วค่อยดำเนินการต่อ แต่ช้า-เร็ว
มันก็มิอาจหนีความจริงไปได้
ต่างๆเหล่านี้คงทำให้นายกรัฐมนตรีเครียดไม่น้อย!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม