นายกฯ เผย ครม. เคาะเยียวยาพื้นที่น้ำท่วมใต้ ครัวเรือนละ 9,000 บาท เพิ่มอีก 16 จังหวัด ขยายกรอบงบภัยพิบัติจาก 20 ล้านเพิ่มเป็น 50 ล้านบาท รับได้ยินเรื่องดราม่า แต่ขออย่าเอาไปปนน้ำท่วม ยืนยันหากมีเวลาจะลงพื้นที่ภาคใต้แน่นอน ด้าน “พาณิชย์” รับลูกนายกฯ ตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯ น้ำท่วมใต้ ลุยตรวจสอบสินค้าห้ามขาดห้ามแพง
วันที่ 3 ธ.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ปัญหาอุทกภัยภาคใต้ ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล โดยครม.รับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพิ่มกรอบเงินทดรองของจังหวัด จากเดิม 20 ล้านบาท ขยายเป็น 50 ล้านบาท ในจังหวัดที่ประกาศเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 6 จว. ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบอนุมัติใช้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 เพิ่มเติม ในกรอบของงบประมาณตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงิน ที่มีการให้ปรับกรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหายหรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียวทุกครัวเรือนๆ ละ 9,000 บาท จากเดิมในพื้นที่ 57 จังหวัด โดยเพิ่มเติมอีก 16 จังหวัด รวมถึงจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ เป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท จนถึงสิ้นปี 2567 โดยให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป
บอกดูแลไม่ต่างพื้นที่ไหน ขออย่าโฟกัสดราม่า
เมื่อถามว่า แม้จะชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปแล้วแต่ยังคงมีดราม่าซ้ำ ขณะนี้มีกำหนดการลงพื้นที่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร ตอบว่า เรื่องน้ำท่วมภาคใต้ ดราม่าก็ตัดไปบางส่วน คำถามเรื่องมาตรการตนก็ตอบเรื่องมาตรการไปแล้ว แต่สื่อมวลชนถามต่อว่าได้ยินดราม่าหรือไม่ ตนก็ตอบว่าได้ยิน แต่ความจริงแล้วปัญหาใหญ่คือเรื่องน้ำท่วม ก็อย่าเอาดราม่าไปปนแบบนั้นเลย อย่างที่เคยพูดไว้มันไม่ได้จำเป็น ปัญหาคือน้ำท่วมภาคใต้มาตรการช่วยเหลือต้องไปถึงอันนี้คือเรื่องสำคัญ ส่วนตนจะไปหรือไม่ขอดูสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าเรื่องของน้ำลดเรื่องการไปดูเกี่ยวกับนโยบายการฟื้นฟูไปถึงอยู่แล้ว และจะหาโอกาสไปอยู่แล้ว แต่พอดีว่าเดือน ธ.ค. เป็นเดือนที่มีภารกิจค่อนข้างแน่น อย่างเดือน พ.ย. เวลาก็หมดไปอย่างเร็วมาก เนื่องจากไปประชุมต่างประเทศ ตนพยายามทำทุกอย่างให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าเราส่งรัฐมนตรีไปหลายท่านมากๆ เรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูไม่มีน้อยกว่าที่ใด พิจารณาตามหลักการและความช่วยเหลือก็เป็นไปตามที่กำหนดที่ภาคใต้จะได้รับเหมือนภาคอื่นๆ และสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ทำตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือหรือภาคอีสานก็ถือว่าเป็นรัฐบาลที่จ่ายเงินเยียวยาได้เร็วมาก ถ้าไม่เอาเรื่องดราม่า หากลงพื้นที่แล้วคุยกับประชาชนก็จะทราบว่าเราได้มาช่วยจริงๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ที่ไหนในประเทศไทยก็ต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาลแบบนี้เช่นกัน เมื่อถามว่าขณะนี้มีการประเมินว่าจะมีพายุเข้ามาอีกลูก ได้แจ้งเตือนและสั่งการตั้งรับอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งแล้ว ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็พูดกันว่าจะมีฝนตกหนักเพิ่มซึ่งจะกระทบกับสถานการณ์ที่น้ำท่วมอยู่แล้วทุกหน่วยก็ได้เตรียมการแล้ว และได้มีการแจ้งประชาชนเรียบร้อยแล้ว
...
นายกฯ ห่วงคนใต้ สั่งระดมสรรพกำลังช่วยเหลือ
ด้านน.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ โดยจากสถานการณ์ที่ผ่านมามีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 10 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล ยังเหลือพื้นที่น้ำท่วมใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่เนื่องจากจะมีฝนเข้ามาเติมในพื้นที่ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่ยังมีน้ำท่วมสูง หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงรวม 489 แห่ง รองรับประชาชนได้ 66,800 ราย ซึ่งขณะนี้มีผู้พักพิงในศูนย์ต่าง ๆ รวม 40,768 ราย จัดตั้งโรงครัวและรถประกอบอาหารรวม 23 แห่ง แจกจ่ายอาหารปรุงสุกไปในพื้นที่ที่ยังมีผลกระทบอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ นายกฯ ได้ฝากความห่วงใยไปยังกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงและผู้สูงอายุในพื้นที่ประสบภัย 18,648 ราย โดยมีหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคไตที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด 299 ราย ซึ่งหากเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เสี่ยงน้ำท่วม จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลที่ปลอดภัย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ติดตามอาการและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
“พาณิชย์” รับลูกนายกฯ ตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯ น้ำท่วมใต้ ลุยตรวจสอบสินค้าห้ามขาดห้ามแพง
ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ในทันทีที่ทราบว่าเกิดเหตุ ซึ่งตนได้รับทราบข้อสั่งการตั้งแต่อยู่เชียงใหม่ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ตนได้สั่งการเร่งด่วนให้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมกระทรวงพาณิชย์ ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดที่ประสบอุทกภัยหนัก รวมทั้งสิ้น 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ตนได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ประสานผู้ประกอบการและหน่วยงานจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบภัยจัดถุงยังชีพนำส่งให้พี่น้องประชาชน กำชับให้ดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาทิ อาหาร น้ำดื่ม วัสดุก่อสร้าง ให้มีจำหน่ายอย่างเพียงพอ ไม่ให้ของขาด ไม่ให้แพง และไม่ให้มีการกักตุนสินค้า ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือขายสูงเกินสมควรในช่วงวิกฤติที่จะเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย พร้อมเตรียมความพร้อมประสานห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและของใช้ที่จำเป็นให้สต๊อกสินค้าอย่างเพียงพอ โดยหลังจากนี้ได้ให้พาณิชย์จังหวัดติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดให้มีปริมาณสินค้าจำเป็นที่เพียงพอจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าสู่ภาวะปกติ