“นายกฯอิ๊งค์” ตรวจงานฟื้นฟูเชียงรายหลังน้ำท่วม กำชับเคลียร์แผนงาน-งบประมาณให้เคลียร์ ไม่ซ้ำซ้อน ขันนอตเร่งลงมือลุย ย้ำน้ำไม่รอเรา มาอีกระลอกรับไม่ไหว ออกตัวรัฐบาลช่วยเหลือเต็มที่เท่าเทียมทุกภาค “เชิดชัย” โยนพรรคลงมติใช้ ม.152 เปิดเวทีสภาฯ ถกหาทางออกเอ็มโอยู 44 ขู่งัดไม้เด็ดยุบสภาดัดหลัง ภท.งอแงแก้รัฐธรรมนูญ “วิสุทธิ์” เล็งถก “วันนอร์-ชูศักดิ์” เขย่าไทม์ไลน์พิจารณาร่างแก้ไข รธน. 17 ฉบับ กุมขมับ ภท.-ปชน.ขึงพืดเห็นต่างต้องทำประชามติกี่ครั้ง ปัด พท.ดึงเกมปิดประตูรื้อ รธน. “ณัฐวุฒิ” บี้รัฐบาลทวงสัญญาแก้กติกาสูงสุดของประเทศ

หวั่นมีกลไกสร้างอุบัติเหตุดับฝัน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาภายหลังการประชุม ครม.สัญจร ลงพื้นที่ต่อเนื่องไปที่ จ.เชียงราย เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและมอบนโยบายมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาแผนงานให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนและเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว

นายกฯไปแม่สายดูแนวทางรับน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการปฏิบัติภารกิจวันสุดท้าย หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) และการลงพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ก่อนหน้านี้นายกฯพักค้างคืนที่บ้านพักใน จ.เชียงใหม่ 2 คืน ต่อมาเมื่อเวลา 08.45 น. นายกฯออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ ไปที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อตรวจราชการในพื้นที่ ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและมอบมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จ.เชียงราย โดยมีประชาชนมารอต้อนรับ พร้อมมอบดอกกุหลาบให้กำลังใจล้นหลาม จากนั้นนายกฯนั่งรถยนต์โตโยต้า เวลไฟร์ ทะเบียน งบ 6666 เชียงใหม่ ถึงจุดแรกบริเวณคันดินตลาดสายลมจอย ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ติดตามแผนการขุดลอกแม่น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ เป็นต้น ร่วมคณะยังมี น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ และ น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรค พท. ให้การต้อนรับ

...

กำชับเร่งแก้ น้ำไม่รอเรามาอีกไม่ไหวแน่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯรับฟังบรรยายสรุปจากเลขาฯ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมการทหารช่าง กรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงงานขุดลอกดินโคลนตะกอนท้องน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมถึงรับฟังแนวทางป้องกันและลดผลกระทบอุทกภัยดินโคลนถล่มลุ่มน้ำแม่สาย พร้อมรับฟังไทม์ไลน์จัดทำแผนขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก ภาพรวมจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเดือน พ.ค.68 ฝ่ายทหารขอให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยประสานเจรจาฝั่งเมียนมา ถึงการขยายพื้นที่ลำน้ำเข้ามาทางฝั่งไทย ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมืองอธิบายถึงแนวกั้นน้ำชั่วคราวแม่น้ำสาย และแนวกั้นน้ำถาวรบริเวณถนนในพื้นที่ที่ต้องยกพื้นถนน โดยนายกฯกล่าวให้แนวทางว่า อยากให้ศึกษาแผนงานให้ชัดเจน ไม่ให้ซ้ำซ้อนและขอกำชับให้เร่งดำเนินการให้รวดเร็ว เพราะน้ำไม่รอเรา หากน้ำและดินมาอีกระลอกจะไม่ไหว

ไทลื้อขอบคุณร่นเวลาขอสัญชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างทางนายกฯเดินทาง มายังด่านศุลกากรแม่สาย เพื่อมอบป้ายมาตรการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆให้ผู้แทน 8 ธนาคาร 1 ธนารักษ์ มีประชาชนทักทายนายกฯ พร้อมขอถ่ายเซลฟี่ มีตัวแทนสมาคมชาวไทลื้อได้สอบถามนายกฯเรื่องการขอสัญชาติ อยากให้ลดระยะเวลาการขอสัญชาติให้สั้นลง เพราะขอไป 7 ปีเพิ่งได้ในปีที่ 6 ขอขอบคุณนายกฯที่ผลักดันเรื่องดังกล่าว โดยนายกฯกล่าวว่า ตอนนี้ได้ลดขั้นตอนให้เร็วขึ้นแล้ว ทราบแล้วใช่หรือไม่ จากนั้นตัวแทนสมาคมชาวไทลื้อกล่าวอีกว่า สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ได้ขอสัญชาติเคยทำได้ แต่หยุดชะงักไป จึงอยากขอให้นายกฯช่วยดูแลเรื่องนี้

ยันช่วย ปชช.เท่าเทียมทุกภาค

ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่ด่านศุลกากรแม่สาย ต.แม่สาย อ.แม่สาย นายกฯไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งมอบมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้ประชาชน 10 หน่วยงาน โดยนายกฯกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ดีใจกลับมาเห็นรอยยิ้มที่สดชื่นกันอีกครั้ง วันนี้น้ำท่วมที่ภาคใต้ก็มีทั้งรองนายกฯ และรัฐมนตรีลงไป 4 ท่าน แน่นอนมาตรการต่างๆต้องช่วยเหลือเหมือนกับที่เราช่วยเหลือพี่น้องภาคเหนือ ความช่วยเหลือที่ผ่านมาพูดเลยว่าที่ทุกท่านได้รับค่าเยียวยาที่เร็วและมาตรการอื่นๆอีกมากมาย ไม่ใช่ตนคนเดียว แต่เป็นเพราะรัฐมนตรีทุกคนและทุกกระทรวงพร้อมใจกัน แน่นอนว่าถ้ามีเหตุการณ์วิกฤติแบบนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นส่วนใดของประเทศ รัฐบาลจะต้องดูแลและเยียวยาประชาชน เพราะประชาชนคือส่วนสำคัญของประเทศที่จะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง วันนี้จึงมาบอกถึงกำลังใจว่ายังส่งให้อยู่เสมอ มาตรการต่างๆ ช่วยเหลือประชาชนเราทำต่อเนื่องแน่นอน เศรษฐกิจกำลังค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ มาช่วยกันทำให้ประเทศแข็งแรง คนไทยรักกัน รัฐบาลตั้งใจช่วยประชาชนทั้งมาตรการการเงินและมาตรการการช่วยเหลือประชาชนต่างๆ แบ่งเบาภาระหนี้สินของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และยังมีมาตรการเน้นสร้างสภาพคล่องให้ทุกคน รวมถึงฟื้นฟูกิจการ

ขอวางใจ รบ.ตั้งใจคลายทุกข์ให้ลดลง

นายกฯกล่าวอีกว่า ภัยธรรมชาติ พยายามจะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดความเสียหายให้น้อยที่สุด รัฐบาลทำเรื่องนี้เต็มที่ ไปพบต่างประเทศได้ขอความช่วยเหลือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พูดคุยเพื่อนำมาช่วยประเทศเราให้พ้นจากเรื่องภัยธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และในปีหน้าตั้งใจว่าจะทำให้ภัยเหล่านี้ ความทุกข์เหล่านี้ของประชาชนลดน้อยลงเรื่อยๆ คือความตั้งใจสูงสุดของรัฐบาล เพราะฉะนั้นขอให้ประชาชนไว้ใจรัฐบาล เพราะพวกเราทุกคนทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่จริงๆ ต้องขอขอบคุณประชาชนที่เข้มแข็ง เรามากี่ครั้งยังให้กำลังใจเรากลับด้วย ขอให้กำลังใจส่งกลับพี่น้องทุกคนให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง ร่วมขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มแฟนคลับ นำโดยนายสมควร สุตะวงค์ อดีตนายก อบต.เชียงแสน สวมเสื้อสีแดงเดินทางมารอพบ พร้อมนำภาพถ่ายคู่กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถ่ายที่เมืองดูไบ และภาพถ่ายคู่กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯนำมาให้นายกฯดูว่ารู้จักมาตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นอา

มอบบัตร ปชช.กลุ่มชาติพันธุ์

กระทั่งเวลา 13.20 น.ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย น.ส.แพทองธารได้พบปะชาวเชียงรายและมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยนายชัยวัฒน์ ชีวินมหาชัย กำนันตำบลป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย มอบเสื้อคลุมผ้าฝ้ายปักมือและเย็บมือของชาวอาข่าให้ นายกฯได้เยี่ยมชมนิทรรศการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน และชมการแสดงนารีศรีชาติพันธุ์ พร้อมกล่าวกับชาวบ้านว่า ตอนหาเสียงเลือกตั้งได้คุยกับชาวชาติพันธุ์ เข้าใจปัญหาอยู่เมืองไทยมาแสนนาน แต่ยังไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตร ไม่ได้รับสวัสดิการรัฐเลย ชาวชาติพันธุ์ที่รออยู่ 4 แสนกว่าคน มีมติ ครม.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ใหม่ช่วยลดระยะเวลาคนไม่ได้เกิดในไทยจากเคยใช้ 270 วันเหลือ 5 วัน คนเกิดในไทยจาก 180 วัน เหลือเพียง 5 วันเช่นกัน ถึงเวลาจะได้รับสัญชาติไทยอย่างทั่วถึงในหลักเกณฑ์จะเพิ่มกลไกตรวจสอบไตร่ตรองที่รอบคอบ จากนั้นนายกฯเดินทางกลับกรุงเทพฯทันที

โยน พท.ลงมติใช้ ม.152 ถกเอ็มโอยู 44

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงกรณีเอ็มโอยู44 ไทย-กัมพูชาว่า ถ้าทำได้ก็ได้ เป็นการใช้เวทีสภาหาทางออก เอ็มโอยู44 เป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างมากมาย ควรนำไปพูดคุยในสภา ใครสงสัยอะไร รัฐบาลจะได้ชี้แจงทำความเข้าใจ เอาความจริงมาพูดกัน รัฐบาลจะได้ชี้แจงดีกว่าไปปลุกม็อบลงถนน ส่วนที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายก รัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยมองว่า ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แก้ปัญหานั้น ถือเป็นความเห็นนายชูศักดิ์ อยากให้นายนพดลนำเรื่องเอ็มโอยู 44 หารือในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยลงมติว่าควรเปิดเวทีอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลใช้เป็นเวทีชี้แจงทำความเข้าใจยุติปัญหา เพราะเอ็มโอยูเป็นแค่ข้อตกลง ไม่มีผลทางกฎหมาย

ถามล้ม รบ.ได้จะเอาใครเป็นนายกฯ

นพ.เชิดชัยกล่าวว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะลงถนนเพื่ออะไร ล้มรัฐบาลได้จะเอาใครเป็นนายกฯ ควรปล่อยให้ประเทศเดินหน้าได้ สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯขณะนั้นไปเจรจาเอ็มโอยู 44 กับกัมพูชา แต่ทำไมนายสนธิเงียบ เชื่อว่าปัญหาเอ็มโอยู 44 ไม่เป็นเงื่อนไขให้ม็อบจุดติด ตอนนี้คนเบื่อม็อบ ทะเลาะกันมานาน เศรษฐกิจแย่ ถ้ายังมาปลุกม็อบล้มรัฐบาล ใครจะมาแก้เศรษฐกิจ อยากรู้นายสนธิทำไปเพื่ออะไร ถ้ามีการรัฐประหาร ประเทศจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่

ขู่ยุบสภาดัดหลัง ภท.งอแงแก้ รธน.

นพ.เชิดชัยยังกล่าวถึงกรณีพรรค พท. จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญติดปัญหาเรื่องร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ สว.และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เห็นไม่ตรงกับพรรค พท.เรื่องเกณฑ์ผ่านการทำประชามติ แม้อาจต้องเสียเวลา 180 วัน พักร่างกฎหมายประชามติ เพื่อยืนยันการใช้ร่างเกณฑ์การใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวตามเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ฉบับเดิมที่สส.เสนอมา ยังเชื่อว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี ส.ส.ร.ยกร่างบังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งปี 70 ไม่ว่าต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง ระหว่างนั้นต้องเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค ภท.ให้เห็นไปในแนวทางเดียวกัน เรื่องนี้มีวิธีแก้อยู่แล้ว ขอให้เชื่อใจพรรค พท. จะเจรจาทั้งบ้านเล็ก บ้านใหญ่ ต้องคุยให้จบ ถ้ายังงอแงมากก็อาจยุบสภาสั่งสอน ไปพิสูจน์ตอนเลือกตั้งกันใหม่ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะตอนนั้นตั้ง ส.ส.ร.มาแล้ว แม้จะยุบสภา ส.ส.ร.ยังทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไม่ แต่เชื่อว่าคงไม่ไปถึงขั้นนั้น น่าจะพูดคุยกันได้

ปธ.วิปรัฐบาลจ่อถก “วันนอร์”

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ได้นัดประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 9 ธ.ค.เพื่อพิจารณาวาระที่ต้องพิจารณาในการประชุมสภาฯ ช่วงเปิดสมัยประชุม วันที่ 12 ธ.ค.ได้ประสานเจ้าหน้าที่สภาฯให้รวบรวมรายละเอียดไว้แล้ว ส่วนที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาระบุว่าเตรียมเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา 17 ฉบับ จะนัดหารือนายวันมูหะมัดนอร์ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เพื่อหารือรายละเอียดกันต่อไป ทั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการเสนอทำประชามติ 2 ครั้ง ยอมรับว่าแต่ละฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกัน พรรคประชาชน (ปชน.) มองว่าทำประชามติ 2 ครั้งได้ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มองว่าต้องทำ 3 ครั้ง จำเป็นต้องประชุมเจรจาให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้เกิดทางออกที่ดี

ปัด พท.ดึงเกมดับฝันแก้ รธน.

นายวิสุทธิ์กล่าวอีกว่า ขณะที่การทำประชามติต้องยอมรับว่ามีปัญหาในชั้นการออก พ.ร.บ.การออกเสียง ประชามติ ประเด็นเกณฑ์ผ่านประชามติอาจต้องยับยั้งร่างแก้ไขไว้ 180 วัน จึงต้องรอเวลาให้สภาฯ ยืนยันเกณฑ์การออกเสียงประชามติที่ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว การแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ใหญ่หรือรายมาตรา แนวทางใดทำได้ก่อนก็จะทำ การแก้ไขทั้งฉบับพรรค พท.ต้องการแก้ไขตามที่หาเสียงไว้ แต่พบข้อติดขัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องประชามติที่ สว.ไม่เห็นด้วย พรรค ภท.งดออกเสียง เป็นธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องมีความเห็นต่างกัน แต่รัฐบาลพยายามทำเต็มที่ เมื่อพยายามเต็มที่แล้ว แต่ไม่ทัน คนที่ติดตามการแก้รัฐธรรมนูญทราบดีว่าติดขัดตรงไหน ดังนั้นหากพยายามเต็มที่แล้วไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร รัฐบาลและพรรค พท.ไม่ได้ดึงเกมใดๆ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงถือเป็นเรื่องธรรมดา

ปชน.บี้ รบ.ทวงสัญญาแก้กติกาสูงสุด

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติกล่าวถึงการประชุม กมธ.วันที่ 4 ธ.ค.ว่า จะพิจารณารายงานครั้งสุดท้ายและมีข้อสังเกตร่วมกันของ กมธ. นายณัฐวุฒิตอบว่า เราพยายามกระตุ้นตลอดว่าทำได้ ไม่ต้องรอกฎหมายประชามติ พ.ร.บ.ประชามติยากที่จะผ่านในเวลาอันสั้น เนื้อหาสุดท้ายจะออกมาอย่างไรยังไม่ทราบ หรือแม้กระทั่งหาก สส.เห็นตรงกัน กว่ากฎหมายจะผ่านอีกนาน แต่ยังเชื่อมั่นว่าทำประชามติ 2 ครั้งเพื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ ขณะที่ประชาชนต้องช่วยเรียกร้องไปยังรัฐบาลถึงเจตนารมณ์ที่เคยประกาศแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จในสภาฯชุดนี้จะหาแนวทางให้มากที่สุดเพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ได้ รวมถึงยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็นหรือรายมาตราในเรื่องที่จำเป็นให้แก้ไขไปพร้อมกัน

หวั่นมีกลไกสร้างอุบัติเหตุเตะถ่วง

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ส่วนที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ระบุจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 14 ฉบับเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาในเดือน ธ.ค.ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ วิปรัฐบาลกับวิปฝ่ายค้านเคยหารือกัน จะเปิดประชุมร่วมรัฐสภาหลังเปิดสมัยประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่ 2 ขณะนั้นมีร่างรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การพิจารณาแค่ 3-4 ฉบับ แต่ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ส่งมามีมากขึ้น ยังไม่ทราบจะส่งเข้ามาเพิ่มอีกหรือไม่ ขอบคุณนายวันมูหะมัดนอร์ที่มุ่งมั่นอยากให้ประชุมเดือน ธ.ค. แต่ยังไม่มีการประสานงานวิปสามฝ่ายหารือจะประชุมร่วมรัฐสภาวันใด ใช้เวลาเท่าใด มีกระบวนการพิจารณาอย่างไร หากไม่เริ่มต้น เลยจะเดินหน้าไม่ได้ อยากเห็นความจริงใจแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากการเลือกตั้ง คาดหวังจะมีรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.ทันปี 2570 เมื่อถามว่าหากทำประชามติ 2 ครั้ง จะเห็น ส.ส.ร.ทันปี 68 หรือไม่ นายณัฐวุฒิตอบว่า ความเป็นไปได้ในปี 68 มีอยู่สูง หวังว่าจะไม่มีกลไกอื่นทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เดินหน้าไม่ได้ หากให้กลไกหรือสภาฯ เดินหน้าปกติน่าจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงทำความเข้าใจประชาชนว่าการแก้รัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การแก้ไขโครงสร้างทางการเมือง แก้ปัญหาให้ประชาชน

ดักคอปิดประตูตั้ง ส.ส.ร.แก้รายมาตรา

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหลายฝ่ายต้องการให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดย ส.ส.ร.หลังทำประชามติผ่านว่า ส.ส.ร. มีหรือไม่ ยังไม่รู้ แต่เชื่อว่าไม่มี เพราะถ้ามี ส.ส.ร. การร่างกติกาสำคัญของประเทศมันจะหลุดออกจากมือของฝ่ายการเมืองไปอยู่ที่มือของประชาชน ที่ไม่สามารถ บังคับทิศทางได้ ดังนั้น เรื่องอะไรที่จะปล่อยให้อำนาจดังกล่าวหลุดออกจากมือตัวเอง คงอืดๆช้าไปเรื่อยๆ แต่บอกว่ากำลังทำกฎหมายประชามติ อาจยังเห็นไม่ตรงกัน ขอเวลา 8 เดือนทำให้ตรงกัน เสร็จแล้วยังมีเหตุสารพัดอ้างต่อไปเรื่อยๆ ท้ายสุดไม่มี ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันปี 70 และจะแก้รายมาตรา ใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา ถ้าแก้ประเด็นไม่สำคัญ ก็ไม่ต้องทำประชามติ แก้ตามใจพรรคการเมือง

ปลุกคนรักชาติเสวนาทวงคืนเขากระโดง

วันเดียวกัน นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ผู้ก่อตั้งสภาที่ 3 กล่าวถึงการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินบริเวณเขากระโดง ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม โยนให้เป็นเรื่องของศาล นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นำทีมกระทรวงมหาดไทยชี้แจงคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ สภาฯ ชี้ให้เห็นคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันเฉพาะคู่ความ ส่วนอีก 900 แปลงต้องพิสูจน์สิทธิว่า วิธีการดังกล่าวส่อเจตนาปัดความรับผิดชอบ ทั้งที่ตัวเองเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ปล่อยให้มีการดูถูกเหยียดหยามกระบวนการยุติธรรม ละเมิดคำสั่งศาลสูงสุดที่มีคำพิพากษาชี้ขาดแล้ว เข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดฉ้อโกง ตามที่นายณัฐพล โตประยูร ฟ้องข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ดังนั้นสภาที่ 3 เตรียมจัดเสวนาหัวข้อ ทวงคืนที่ดินพ่อหลวง ร.5 ในวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์ 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน มีผู้รักชาติรักแผ่นดินมาเป็นวิทยากร อาทิ นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน นายสาวิตร แก้วหวาน ที่ปรึกษา สร.รฟท. นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย

โพลชู “อิ๊งค์–เท้ง”บทบาทโดดเด่น

สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 2,078 คน เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือน พ.ย.2567” ระหว่างวันที่ 25-29 พ.ย.พบว่ากลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือน พ.ย.67 เฉลี่ย 4.92 คะแนน ลดลงจากเดือน ต.ค.67 ที่ได้ 5.01 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เฉลี่ย 5.39 คะแนน ตัวชี้วัดคะแนนต่ำสุด คือการแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เฉลี่ย 4.39 คะแนน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน ร้อยละ 50.66 ระบุว่าแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 28.96 อนุทิน ชาญวีรกูล ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน ร้อยละ 43.80 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร้อยละ 31.72 ศิริกัญญา ตันสกุล ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน ร้อยละ 37.50 แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือน ร้อยละ 48.51 ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

หนุน ปชช.ยื่นร้องโดยตรงคดีล้มล้างฯ

ด้าน นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,310 หน่วยตัวอย่างเรื่อง “ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง” ระหว่าง 25-26 พ.ย. เมื่อถามถึงการมีสิทธิของประชาชนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หากพบบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 81.37 ระบุว่าประชาชนควรจะมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรง ร้อยละ 16.42 ประชาชนไม่ควรจะมีสิทธิ และร้อยละ 2.21 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ สำหรับการยุบพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 61.30 ระบุว่าควรมีการลงโทษด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การยุบพรรค ร้อยละ 36.10 ควรมีการลงโทษยุบพรรค และร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อถามถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 39.54 ควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง เฉพาะผู้กระทำการเท่านั้น ร้อยละ 31.68 ควรลงโทษด้วยวิธีอื่นเฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น ร้อยละ 19.31 ควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ร้อยละ 6.26 ควรลงโทษด้วยวิธีอื่นกับกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด และร้อยละ 3.21 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่