บ้านใหญ่เป็นกลไกที่ได้ผล...ชนะเลือกตั้ง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สะท้อนปรากฏการณ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 29 จังหวัด ที่นายก อบจ.พ้นตำแหน่งก่อนครบวาระ ในจำนวนนี้มี 27 จังหวัด ลาออกก่อนครบวาระอีก 2 จังหวัด คือกาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด ศาลอุทธรณ์ภาค 4 สั่งให้เลือกตั้งใหม่
มีบางจังหวัดสมรภูมิเลือกนายก อบจ.สู้กันระหว่างพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทย มีบางจังหวัดที่ถูกตั้งข้อสังเกตพรรคภูมิใจไทยยืนเป็นเงาทะมึนส่งกำลังใจเชียร์ แม้ประกาศออกตัวไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.
อีก 47 จังหวัดที่เหลือกำหนดชิงดำ 1 ก.พ. 68 บรรยากาศรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งคงถอดแบบ 29 จังหวัดที่เลือกไปแล้ว โดยมีหลายจังหวัดที่ถูกจับตามองสู้กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน โดยเฉพาะเลือกนายก อบจ.เชียงใหม่ และมีอีกหลายจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยถูกจับตาที่ส่งแรงเชียร์ถึงขอบสนาม
โดย นายสมชัย บอกว่า ในเมื่อภาพใหญ่ผู้ที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นชนะเลือกตั้งไม่ได้บอกว่าบ้านใหญ่ไม่ดีทั้งหมด ควรรอดูผลงาน ประชาชนโอเคก็ไม่ว่ากัน หากเกิดทุจริตมากขึ้น ถือเป็นจุดอ่อนก็ต้องแก้ไข
พร้อมขยายให้เห็นภาพชัดขึ้นถึงการเลือกนายก อบจ.พื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด จำเป็นต้องอาศัยกลไกหัวคะแนนวางเครือข่ายครอบคลุมจังหวัด ทั้งนักการเมืองท้องถิ่นระดับต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกของบ้านใหญ่ ตระกูลใหญ่ และใช้กลไกเหล่านี้ทำงานร่วมกันต่อเนื่องยาวนาน เข้าถึงประชาชาชนสนิทกับประชาชน
พอเลือกตั้งกลไกนี้ใช้ได้ผล อาจไม่ใช้เงินด้วยซ้ำ
เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับการเมืองแบบสมัยใหม่อย่างพรรคประชาชน สมรภูมินี้เสียเปรียบตั้งแต่เริ่มต้น เข้าแข่งขันก็ยากที่จะชนะ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่กว้าง อาจได้คะแนนในเขตเมือง แต่รอบนอกเจาะเข้าถึงยาก
...
แต่พรรคการเมืองรุ่นใหม่ของคนรุ่นใหม่ มีโอกาสชนะนายก อบจ.ได้ ในจังหวัดที่พื้นที่ไม่กว้างเกินไป เช่น ลำพูน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม หรือในจังหวัดที่มีความเป็นเมืองสูง จังหวัดเศรษฐกิจ จังหวัดที่ใกล้ กทม. เช่น ภูเก็ต กทม. นนทบุรี ฉะนั้นถ้าชนะแค่ 2-3 จังหวัดใน 76 จังหวัด นับว่าเก่งแล้วแต่ตอนนี้ยังไม่ชนะเลย
ขณะที่ กกต.ที่ถูกคาดหวังถึงการจัดการเลือกตั้งนายก อบจ.ให้สุจริต และเที่ยงธรรม ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมา ควรปรับหรือแก้ไขตรงไหนให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม นายสมชัย บอกว่า กกต.ไม่ได้เป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.กำกับดูแลเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นฝ่ายประกาศผลพิจารณาคดีทุจริต
แต่ภายใต้กลไกการทำงานของ กกต. พอจัดการเลือกตั้งพร้อมกัน คดีร้องเรียนเกิดขึ้นมากมาย จัดการให้เร็วก็เป็นไปได้ยากยิ่งกฎหมายใหม่ขยายกรอบเวลาออกไป หลายกรณีบางที 2-3 ปี ยังทำคดีไม่เสร็จ อยู่จนครบวาระ กกต.ก็ยังทำไม่เสร็จ อันนี้เป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติ
ฉะนั้นจึงหวังไม่ค่อยได้เท่าไหร่ และตราบที่โครงสร้างการทำงานของ 7 กกต.เป็นแบบนี้ โดยถูกตั้งข้อสังเกตว่าได้ผู้ที่ไม่รู้ในรายละเอียดของการเลือกตั้งอย่างแท้จริง แค่เป็นคนที่มีสเปกครบถ้วน แต่ไม่มีประสบการณ์เข้ามาทำหน้าที่ กกต.
เมื่อไม่เชี่ยวชาญ ไม่รู้ กว่าเรียนรู้เข้าใจหลายปี สมัยผมเป็น กกต. ขนาดรู้เรื่องการเลือกตั้งพอสมควรยังใช้เวลาถึง 2 ปี เข้าใจระบบการทำงานต่างๆปีที่ 3 ถึงรู้เรื่อง
“เมื่อได้คนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ ผลที่เกิดขึ้นทำให้สำนักงานเป็นกลไกสำคัญ ถ้าสำนักงาน กกต.แข็งแรง เอาจริงเอาจัง เป็นฝ่ายป้อน–ชง เรื่องให้ 7 กกต.พิจารณาตัดสิน อาจมีกลไกที่ดีก็ว่ากันไป
แต่ถ้ายังทำตัวเหมือนระบบราชการ มองว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่เคยมีปัญหา ทำงานเพลย์เซฟตัวเอง จัดการเลือกตั้งให้เสร็จไม่ใช่จัดการเลือกตั้งให้ดี ไม่ต้องการทำให้เป็นคดีปัดออกจากตัว
เช่นนี้มันไม่สามารถทำให้กระบวนการจัดการเลือกตั้ง เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้”
ฉะนั้นต้องปรับปรุงคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของคนที่เข้ามาเป็น กกต. ที่เคยออกแบบว่าต้องเป็นมหาเทพเข้ามาจัดการเลือกตั้งให้ดี สิ่งนี้เข้าใจถูกหรือผิด
รวมถึงสำนักงาน กกต. มีเลขาธิการ กกต.เป็นผู้กำกับดูแลก็จริง แต่กระบวนการเลือกคนเป็นเลขาธิการ กกต. ต้องเลือกคนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา และเข้าใจสำนักงาน กกต.ได้ดีในระดับหนึ่งด้วย
พรรคการเมืองระดับชาติสนับ สนุนนายก อบจ. เน้นนโยบายรณรงค์หาเสียง สู้อย่างเอาเป็นเอาตาย สะท้อนให้เห็นอะไร นายสมชัย บอกว่า พรรคการเมืองหวังว่าถ้ายึดระดับท้องถิ่นได้ ยอมเป็นตัวเชื่อมกับการเมืองระดับประเทศ เลือกตั้งใหญ่ก็เหนื่อยน้อยลง ถึงพยายามเอาท้องถิ่นเข้ามาเป็นเครือข่ายระดับประเทศ
คนที่เล่นการเมืองท้องถิ่นก็มุ่งหวังขยับไปสู่ระดับชาติ ระดับประเทศวิ่งเข้าหาท้องถิ่น ท้องถิ่นก็วิ่งเข้าหาระดับชาติ ประสานประโยชน์ซึ่งกัน และกัน
ขณะเดียวกันพรรคการเมืองอื่นๆมีผู้สมัครนายก อบจ.ที่เป็นคนของตัวเองที่ไหน ก็ไปช่วยโดยไม่เลือกพื้นที่ แพ้ชนะไปหมดแต่เคสพรรคเพื่อไทยแปลกดี
ทัพหลวง–ทักษิณ ชินวัตร ลงเฉพาะพื้นที่ที่ชนะ
“พื้นที่ที่ประเมินแล้วมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ มันเป็นส่วนหนึ่งที่อาจชี้ให้เห็นถึงต้องการรักษาภาพของพรรคการเมือง
ไม่ให้เกิดภาพแพ้ซ้ำซาก แพ้แล้วแพ้อีก ทำกระทบต่อการเมืองระดับประเทศ สะเทือนถึงพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณว่า ไร้น้ำยา ไม่สามารถไปช่วยทำให้ได้คะแนนสูงขึ้น
เหมือนเลือกนายก อบจ.ปทุมธานี รอบแรกทัพหลวงลงชนะไม่เท่าไหร่ รอบสองประเมินแล้วผู้สมัครถูกใบเหลือง ไปไม่รอดแน่ เพื่อไทยไม่ช่วย คุณทักษิณไม่พูดถึงเลย”
ปรากฏการณ์ของพรรคภูมิใจไทยสะท้อนให้เห็นอะไรในทางการเมือง หลังประกาศไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. แต่ถูกตั้งข้อสังเกตส่งกำลังใจไปเชียร์ถึงขอบสนาม เช่น สุรินทร์-ปทุมธานี-นครศรีธรรมราช นายสมชัย บอกว่า พรรคนี้สะสมกำลังต่อไปเรื่อยๆ อาจไม่หวือหวา ไม่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่พรรคที่จัดตั้งรัฐบาลขาดพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ กลายเป็นที่สนใจของนักการเมืองท้องถิ่นระดับต่างๆ
ภูมิใจไทยเดินเกมการเมืองลึก มองเกมนาน
สะสมชัยชนะได้ถึงจุดหนึ่งก็พร้อมเป็นรัฐบาล
ขณะนี้เดินการเมืองแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่เป็นที่หมั่นไส้ เก็บแต้มไปเรื่อยๆ โดยบางทีคนเขาไม่ค่อยระมัดระวัง เช่น เลือก สว. มีใครระแวงพรรคนี้บ้างล่ะ ทำกันเงียบมาก สุดท้ายได้เป็นกอบเป็นกำ สามารถยึดครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ ตามที่สื่อมวลชน วิพากษ์วิจารณ์
พรรคเพื่อไทย มีบ้านใหญ่ ถืออำนาจรัฐ มีกระแส พรรคประชาชนใช้กระแส หัวคะแนนแนวราบ พรรคภูมิใจไทยถนัดใช้บ้านใหญ่ มีอำนาจรัฐ รูปแบบนี้พัฒนาไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ด้วยหรือไม่ นายสมชัยบอกว่า เลือกตั้งใหญ่ต้องเปิดตัวสู้กันเต็มที่ ไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม มุ่งหวังได้ สส.มากที่สุด พรรคไหนได้มากเป็นฝ่ายชนะไปจนถึงจัดตั้งรัฐบาล
เลือกตั้งนายก อบจ.มี 3 พรรคหลักลงสนาม เทียบกับสมรภูมิการเมืองระดับชาติ มี 3 พรรคหลักที่เปิดหน้าสู้กัน ชี้เป็นชี้ตายจัดตั้งรัฐบาล แม้ยังมีพรรคอื่นเป็นองค์ประกอบ นายสมชัย บอกว่า ขณะนี้มีตัวละครแค่ 3 ตัว
พรรคเพื่อไทย นิยามตัวเป็นพรรคก้าวหน้า ฝ่ายก้าวหน้าไม่ค่อยยอมรับ อยากนิยามว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายอนุรักษ์ก็ไม่ได้ไว้วางใจว่า พรรคนี้รักจริงหรือเปล่าหรือปรับตัวชั่วคราว
พรรคประชาชน เป็นเสรีนิยมก้าวหน้า อาจได้รับความนิยมจากคนซีกหนึ่ง แต่ก็ได้รับการต่อต้านรุนแรงจากคนอีกซีกหนึ่ง ส่วนพรรคภูมิใจไทย ไม่บอกว่าตัวเองเป็นอะไร เป็นพรรคกลางๆเข้าใจได้สามารถไปได้กับทุกฝ่ายที่มีอำนาจ
ฉะนั้นขอให้จับตาพรรคอนุรักษ์นิยมเก่าทั้งหลายทั้งปวง ที่คิดปรับรูปแบบใหม่ มีโอกาสเกิดพรรคแนวนี้ ต้องรอดูแนวความคิด วิธีการคิดแบบนี้ขายได้หรือไม่ ประชาชนยอมรับหรือไม่ เพื่อกวาดคะแนนจากคนที่รู้สึกไม่ชอบทั้ง 2 ฝ่าย
ไม่ชอบฝ่ายก้าวหน้า–ไม่ชอบฝ่ายอนุรักษ์
อาจตั้งพรรคอนุรักษ์นิยมแนวใหม่ขึ้นมา.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม