แม้จะเป็นแค่ข่าวเล็กๆ แต่ถือว่าสำคัญ เพราะเกี่ยวกับการเสียหรือไม่เสียดินแดน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการพลังงานของสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคเพื่อเจรจากับกัมพูชา เกี่ยวกับการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หลังจากที่รับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย
เจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญายืนยันว่า บันทึกความเข้าใจ ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เรียกว่า “เอ็มโอยู 44” เป็นกรอบของการเจรจา ต่างฝ่ายต่างรับรู้พื้นที่ของแต่ละฝ่าย ไทยค่อนข้างมั่นใจในข้อมูลที่จะเจรจากับกัมพูชา โดยยึดอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเลเป็นหลักสำคัญ
คณะกรรมาธิการพลังงานของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.พรรคประชาชน เป็นรองประธานเห็นชอบกับการตั้งคณะกรรมการเทคนิค เพราะเป็นบันไดขั้นแรก ที่จะทำให้เกิดการเจรจา กมธ.อยากเห็นว่า มีองค์ประกอบเป็นอย่างไร ส่วนของไทยไม่ใช่แค่เรื่องเขตแดน แต่มีเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานอยู่ด้วย
ก่อนหน้านี้ มีกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐบาลหลายฝ่าย ออกมาปลุกระดม กระพือกระแสชาตินิยม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู อ้างว่าจะทำให้ไทยเสียดินแดนรัฐบาลถูกกล่าวหาขายชาติขายแผ่นดิน แต่นายนพดล ปัทมะ สส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ชี้แจงด้วยการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ยืนยันว่าเกาะกูดยังเป็นของไทย
นายนพดลยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย ตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 2450 ไม่พบว่ากัมพูชาอ้างสิทธิเหนือเกาะกูด ดังนั้นจึงอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยไทยล้านเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีพื้นที่อีก 26,000 ตร.กม.ที่เอ็มโอยูรับรองจนอาจทำให้กังวลว่าเป็นของกัมพูชาหรือไม่ ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ ตามกฎหมายทะเล เรื่องนี้มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง
...
ทางเลือกที่ 1 ทำสงครามรบกันให้แพ้ชนะ ทางเลือกที่ 2 เจรจาโดยสันติวิธี แต่ไทยกับกัมพูชาเลือกอย่างหลัง จึงเป็นที่มาของ “เอ็มโอยู 44” ที่ฝ่ายเห็นต่างเรียกร้องให้ยกเลิก แต่ไทยไม่ได้ยอมรับการประกาศ ไหล่ทวีปของกัมพูชา ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล แต่รัฐบาลไทยยังยึดมั่นในเอ็มโอยู เพื่อเป็นกรอบเจรจา
เอ็มโอยู จึงเป็นหลักฐานยืนยัน ทั้งไทยและกัมพูชา ยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติที่ให้ยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี เหมือนกับนานาประเทศส่วนใหญ่ของโลก แต่ที่ยังมีสงครามอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากผู้นำบางประเทศไม่ใช่นักประชา ธิปไตย ไม่ใช่เสรีนิยม แต่เป็นอำนาจนิยม ชอบแก้ปัญหาด้วยกำลัง นำโลกกลับคืนสู่ยุคหินเมื่อนับล้านนับพันปี.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม