“รมว.นฤมล” สั่งทุกกรมของ ก.เกษตรฯ ระดมทุกสรรพกำลังช่วยน้ำท่วมภาคใต้ เตรียมลงพื้นที่เสาร์-อาทิตย์นี้ ด้าน “อนุทิน” ไปนราธิวาส ขอบคุณประชาชน ฟังคำเตือนภาครัฐ มาอยู่ศูนย์ช่วยเหลือ “วันนอร์” ชี้ภาคใต้น้ำท่วมหนัก เสียหาย 80-90%
วันที่ 29 พ.ย. 2567 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดภาคใต้ในขณะนี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยทุกคน โดยวานนี้ (28 พ.ย.) ตนได้กำชับให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานและทุกกรมของกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ระดมสรรพกำลังไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน ให้กรมปศุสัตว์อพยพสัตว์จำนวน 2,431 ตัว พร้อมนำหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 10,760 กิโลกรัม ไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร และมีการจัดตั้งโรงครัวเพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นในพื้นที่แล้ว
“ในวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะลงพื้นที่จังหวัดยะลา และในวันอาทิตย์ที่ 1 ธ.ค. ดิฉันและนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามและเร่งแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างเร็วที่สุด กระทรวงเกษตรฯ ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน และขอยืนยันว่า จะไม่มีการทิ้งพี่น้องเกษตรกรทุกคนอย่างแน่นอน” นางนฤมล กล่าว
...
“อนุทิน” ไปนราธิวาส ขอบคุณประชาชน ฟังคำเตือนภาครัฐ มาอยู่ศูนย์ช่วยเหลือ
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เดินทางลงพื้นที่ที่ว่าการอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาอุทกภัยที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดสงขลา ทั้งนี้ที่ว่าการอำเภอดังกล่าวได้ปรับให้เป็นศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
โดยนายอนุทิน ได้เข้าไปพูดคุยและให้กำลังใจชาวบ้านที่มารับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ พร้อมกับขอบคุณประชาชนที่ฟังข้อมูลจากส่วนกลาง แล้วมาอยู่ที่ศูนย์ดูแล แทนการเลือกเผชิญกับสถานการณ์น้ำที่บ้าน ที่ศูนย์แห่งนี้มีน้ำและอาหาร มีของจำเป็นครบ พร้อมย้ำว่า จะเร่งให้การช่วยเหลือ และเมื่อน้ำลด ก็จะเร่งเยียวยา เพื่อบรรเทาความทุกข์ของประชาชน
ส่วนประชาชน ขอให้นายอนุทินอย่าเพิ่งท้อกับปัญหา ขอให้ช่วยกันสู้กับน้ำท่วมต่อไป โดยนายอนุทินเปิดเผยว่า ลงพื้นที่มาคราวนี้ หวังจะไปให้กำลังใจเขาแต่ก็ได้กำลังใจกลับคืนมามากมายเช่นกัน
ไปตรวจน้ำท่วมสงขลาต่อ เร่งสำรวจความเสียหาย จ่ายค่าชดเชย
จากนั้น นายอนุทิน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เดินทางลงพื้นที่มาตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วม โดยจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่ 2 ของวันนี้ที่คณะของนายอนุทินลงตรวจเยี่ยมถัดจากจังหวัดนราธิวาส
นายอนุทิน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของน้ำทะเลหนุนซ้ำเติมสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาจะคลี่คลายตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้มีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากเป็นเรื่องของปริมาณน้ำฝน แต่ไม่มีปัญหาของการไหลหลากน้ำจากภูเขาเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ เมื่อฝนหยุดตกทุกอย่างจะดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องเร่งทำ ณ ขณะนี้คือการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนและเร่งเยียวยาให้ได้เร็วที่สุดตามเกณฑ์ปัจจุบันคือ 9,000 บาทต่อครัวเรือน ต้องไปดูว่าครัวเรือนไหนเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการจ่ายชดเชยเยียวยาบ้าง จะปล่อยให้ประชาชนรอนานไม่ได้ เชื่อว่าเรื่องนี้จะได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เขามีประสบการณ์มาแล้วจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานก่อนหน้านี้
“ประธานวันนอร์” ชี้ภาคใต้น้ำท่วมหนัก เสียหาย 80-90%
ส่วนที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ว่า จากที่ได้รับรายงานฝนตกหนักมากกว่าในรอบที่ผ่านมา เกือบทุกอำเภอใน 4 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เสียหาย 80-90% เพราะน้ำมาเร็ว แต่สิ่งที่ชาวบ้านเดือดร้อน นอกจากเรื่องทรัพย์สินที่ขนไม่ทัน ยังมีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็กมีปัญหามากต้องการการขนย้ายออก ต้องการเรือ พาหนะและรถสูงไปขนถ่าย วันนี้ทราบว่าทางรัฐบาลได้ให้ทหารช่างส่งรถ ส่งเรือ 30-40 ลำที่สามารถเข้าไปขนชาวบ้านออกมา รวมทั้งเรือของ กทม.ด้วย ตนคิดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายบางส่วน แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือน้ำดื่ม น้ำประปาขาดอาหารการกิน เพราะในเมืองตลาดร้านค้าต่างๆ น้ำท่วมหมด หาซื้อของกินของใช้ได้ยาก รัฐบาลต้องรีบส่งอาหารของใช้ไปในพื้นที่โดยด่วนที่สุด
ย้ำทางแก้รักษาป่าไม้ อย่าปลูกสร้างขวางทางน้ำ
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาว เป็นเรื่องที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลต้นน้ำ การก่อสร้างที่จะขัดขวางทางน้ำไหล ต้องวางระบบคมนาคมให้ดีเพราะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องไม่ไปขัดขวางการไหลของทางน้ำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่าที่ต้องดูแลเป็นอย่างดี สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้มีภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก ก็คงต้องแก้ไขด้วย เพราะเป็นการทำให้มลภาวะของโลกร้อนลดลงไป
นายกฯ สั่งระดมช่วยเหลือน้ำท่วมใต้-เร่งมาตรการเยียวยา
ขณะที่เมื่อเวลา 12.20 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ แถลงผลการประชุมคณะว่า ครม.รับทราบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ ที่มีสาเหตุมาจากฝนตกหนักต่อเนื่องและมีปริมาณน้ำมาก ตนจึงสั่งการให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย รมช.มหาดไทย และ รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ โดยจะอยู่หน้างานเพื่อแก้ไขและให้ทำหน้าที่ต่อ โดยขอให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ได้รับรายงานจากคนในพื้นที่ว่า ทาง กทม.ได้ส่งความช่วยเหลือ ทั้งเรือท้องแบน 7 ลำ เรือเครื่อง 5 เครื่อง รถกระบะ 2 คัน รถบรรทุก 6 ล้อ มีเครน และมีเจ้าหน้าที่กู้ภัย 23 คน นายช่าง 4 คน รวมเป็น 27 คนเพื่อนำไปช่วยเหลือภาคใต้ โดยตนได้สั่งการให้ ศบอต. ประสานงานกับ ศปช. ส่วนกลาง เร่งรัดสั่งการเรื่องการประกอบอาหารและโรงครัวพระราชทาน อุปกรณ์ต่างๆ พร้อมให้อพยพประชาชนจากพื้นที่น้ำท่วมสูงและจัดเตรียมหน่วยแพทย์ ยารักษาโรค เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ดูเรื่องมาตรการเยียวยาควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรอนาน
“บิ๊กเล็ก” มอบ ศอ.บต. เป็นศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ส่วนหน้า
พล.อ.ณัฐพล นาคพานิชย์ รมช.กลาโหม ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยใน จ.ปัตตานี และร่วมประชุมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า ศอ.บต. จะเป็นศูนย์บูรณาการการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่ออำนวยการในภาพรวมหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และให้ ทภ.4/กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นศูนย์บูรณาการทรัพยากรของกระทรวงกลาโหมและ กอ.รมน. รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ในการให้การสนับสนุนกำลังพล ยานพาหนะ และเครื่องมือ ตามที่ ศอ.บต. ร้องขอ