มีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับประเด็นการเมืองที่น่าสนใจเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดย “ไอเอฟดีโพล” ในหัวข้อ “ศึกสี่เส้าเลือกตั้งหน้า เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาชน และพรรคการเมืองใหม่” กลุ่มตัวอย่าง 61.07% ระบุชื่อนายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุด ในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย
รองลงไป 13.54% ระบุชื่อนายเนวิน ชิดชอบ ตามด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 11.52% ส่วนพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุด ในการกำหนดทิศทางการ เมืองไทย ได้แก่พรรคประชาชน 31.63% ตามด้วยพรรคเพื่อไทย 29.44% พรรคภูมิใจไทย 25.55% และพรรคใหม่ที่เรียกศรัทธาได้ 11.19% ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
คอการเมืองแสดงความกังวล หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ไม่ได้ อาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนายทักษิณเป็นผู้นำจิตวิญญาณ กับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีนายเนวินเป็น “ครูใหญ่” อาจทำให้ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองต้องเผชิญหน้า ทั้งสองคนเคยร่วมรัฐบาลในอดีต และเคยแตกคอกัน
มีคำพูดที่น่าประทับใจของนายเนวิน ในวันที่แยกทางกับนายทักษิณว่า “มันจบแล้วครับนาย” คราวนี้ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่อาจต้องมีวิวาทะ เรื่องที่ดินเขากระโดง เพราะถือหางคนละฝ่าย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าเขากระโดงเป็นของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) ตามคำพิพากษาศาลฎีกา
นายสุริยะยืนยันจะไม่ยอมเสียที่ดินแม้แต่ตารางนิ้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีคนตระกูลชิดชอบครอบครองที่ดินอยู่ไม่ใช่น้อย และอ้างว่ามีเอกสารสิทธิที่ทางราชการออกให้กลายเป็นข้อพิพาทที่คาราคาซังอยู่ มีการประชุมคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ กรมที่ดินของกระทรวงมหาดไทยอยู่ตรงข้ามกับ รฟท.
...
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ชี้แจงว่าการตรวจสอบที่เขากระโดง กระทบทั้ง รฟท. และประชาชน เห็นใจประชาชนกว่า 900 คน ที่ครอบครองที่ดิน ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ควบทั้งรองนายกฯและรัฐมนตรีมหาดไทย ขอร้องอย่านำการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องให้ยึดหลักของราชการ
ถึงจะไม่มีใครนำการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ปัญหาเขากระโดงก็เป็นการเมืองมาตั้งแต่ต้น ขณะนี้ก็ยังเป็นอยู่ และอาจเป็นต่อไป ฝ่ายหนึ่งยึดคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก รัฐมนตรียุติธรรมเตือนว่าศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ส่วนอีกฝ่ายยึดมติของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกรมที่ดิน เป็นไปได้หรือไม่ที่ รฟท. จะยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาตัดสินอีกครั้ง.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม