เมื่อวานผมหยุดเขียนวิเคราะห์เศรษฐกิจ หรือ GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมักขึ้นๆลงๆอยู่เสมอๆไป 1 วัน เพราะต้องการจะแสดงความยินดีกับ “น้องจีโน่” นักกอล์ฟสาววัย 21 ปีของไทย ที่คว้าชัยชนะในรายการส่งท้ายที่สหรัฐฯ โกยเงินมาถึง 4 ล้านเหรียญ หรือ 137 ล้านบาท
วันนี้ขอตัดภาพกลับไปที่การวิเคราะห์ “เศรษฐกิจฉบับย่อ” ของประเทศในกลุ่มอาเซียนตามเดิมนะครับ
ผมพูดถึง 2 ชาติใหญ่ระดับบิ๊กเบิ้มของอาเซียนไปแล้ว 2 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ที่เคยโด่งดัง เคยยิ่งใหญ่ เคยฝ่อลงแต่ก็กลับฟื้นมาใหม่ และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งก็เคยโด่งดังรํ่ารวยเป็นพี่เอื้อยของกลุ่มประเทศแถวนี้ที่กำลังกลับมาอีกครั้งเช่นกัน
วันนี้ขอพูดถึงอีก 2 บิ๊กอาเซียน เริ่มจาก มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนานในตะวันออกไกล
มาเลเซียเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงได้รับการถ่ายทอดทางการเมือง การปกครอง การศึกษา และระบบเศรษฐกิจ จากเมืองแม่มาไม่น้อย และโชคดีที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสินค้าส่งออกที่โลกต้องการมาแต่สมัยโบราณกาล เช่น ดีบุก ยางพารา นํ้ามันปาล์ม จึงเป็นประเทศที่ค่อนข้าง “ไม่จน” มากนักมาแต่ไหนแต่ไร
ต่อมาก็ค่อยๆเปลี่ยนโครงสร้างมาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งการหันมาทุ่มเทพัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียขยายตัวคงเส้นคงวามาตลอด
แม้จะมีปัญหาขัดแย้งระหว่างประชากรต่างเชื้อชาติในประเทศอยู่บ้าง และมีปัญหาระหว่างพรรคการเมืองที่มักจะต่อสู้และขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ แต่เศรษฐกิจของมาเลเซียก็ขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ
อัตราเพิ่มของ GDP จะอยู่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วง 50 ปีของการพัฒนาที่ผ่านมา เพิ่งจะถอยลงในช่วงโควิด
...
ผลิตภัณฑ์มวลรวมล่าสุด 488,250 ล้านเหรียญ เป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน แต่รายได้ต่อหัวสูงถึง 14,423 เหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และบรูไน
มองในแง่ “สมบัติผลัดกันชม” ก็ต้องถือว่าสมบัติมาเลเซีย ไม่เปลี่ยนมือคือไม่ถึงขนาดรุ่งโรจน์มากนัก แต่ก็ไม่ตกต่ำ...มักเอาตัวรอดในยามวิกฤติได้เสมอ
จากนี้ก็ลองไปดู เวียดนาม บ้าง น้องใหม่อาเซียนที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในขณะนี้ ในแง่ผลิตภัณฑ์มวลรวมตัวเลขประมาณการล่าสุด อยู่ที่ 506,426 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์
รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 4,985 เหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับ 6 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย
ในอดีตช่วงก่อนสงครามเวียดนามนั้น เวียดนามเหนือจนมากและปิดประเทศ ส่วนเวียดนามใต้ ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ ดูฟู่ฟ่าไม่น้อย ไซ่ง่อน เมืองหลวงเวียดนามใต้ เป็นที่กล่าวขวัญถึงพอสมควรว่าเป็นเมืองที่ค่อนข้างเจริญและเป็นเมืองค้าขาย
วัดจากการกีฬาก็ต้องถือว่าเวียดนามใต้ยุค พ.ศ.2500 ต้นๆเข้มแข็งมาก ทีมชาติของเขาสูสีกับทีมชาติไทยและบ่อยครั้งที่เอาชนะเราได้...ฉายา “นักเตะสกุลเหงียน” เกิดขึ้นในยุคนั้น
ในที่สุดเวียดนามเหนือก็ชนะสงคราม สามารถรวมประเทศได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.2519 ช่วงแรกๆต้องยอมรับว่าเวียดนามยากจนสุดๆ
ต่อมาเมื่อเริ่มเปิดประเทศก็เริ่มกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ จากการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนจากมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ฯลฯ
3 ปีหลังโควิด GDP เวียดนามขยาย 2.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564, 8.1 เปอร์เซ็นต์ ปี 2565, 5 เปอร์เซ็นต์ ปี 2566 และ 7.4 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 3 ของปีนี้ จนทำให้ตัวเลขรวมขยับขึ้นมาเรื่อยๆจนแซงมาเลเซียได้สำเร็จเมื่อปี 2023 ไปเรียบร้อย
มีบางสำนักออกมาฟันธงแล้วด้วยซํ้าไปว่าเขาจะแซงเราได้ในปี 2027 หรือ พ.ศ.2570 อีก 2-3 ปีข้างหน้า
(อ่านต่อพรุ่งนี้)
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม