การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เหมือนกับนานาอารยประเทศทั่วโลก กลายเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ สำหรับประเทศไทย สำหรับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีเสียงข้างมากในสภา อุปสรรคสำคัญคือวุฒิสภาเสียงข้างมาก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถูกนินทาว่าถูกบางพรรคครอบงำ

บรรดาแกนนำ สส.ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ยอมรับว่านัดนี้สายเกินไป ไม่สามารถแก้ไขได้ทันรัฐบาลนี้และไม่ทันการเลือกตั้งใหญ่คราวหน้า เนื่องจากความเห็นต่างของ สส. กับ สว.ในเรื่องการออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ สว.ยืนยันต้องมีเสียงข้างมากของประชาชน เห็นชอบสองชั้น ขณะที่ สส.ยืนยันชั้นเดียวก็พอ

ต่างฝ่ายต่างยืนยันกระต่ายขาเดียว จึงทำให้ต้องรอไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน เพื่อให้ สส. ยืนยันมติ รวมทั้งต้องออกกฎหมาย อาจต้องช้าไปอีก 1 เดือน รวมเป็น 7 เดือน จึงไม่ทันการลงประชามติ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 วันเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ คาดว่าจะลงประชามติ ครั้งแรกได้ในเดือนมกราคม 2569

แต่แกนนำของสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ยอมแพ้ ยังมุ่งมั่นที่จะหาวิธีการที่จะทำให้การแก้ไขทันตามที่ต้องการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเรือธง ของพรรคเพื่อไทย อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน สัญญาว่าจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก แต่ผ่านไปไม่รู้กี่นัด จนนายกฯตกเก้าอี้ ก็ยังไม่ได้แก้ไข

แต่แกนนำฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ท้อแท้ ยังพยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายสูงสุดเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและนักกฎหมาย จากพรรคเพื่อไทย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน และประธาน กมธ.พัฒนาการเมือง ของสภาผู้แทนฯ รวมทั้งนายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา

...

ทุกคนพยายามหาช่องทางตามกฎหมาย ทำอย่างไรจึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันเวลา จะลดการออกเสียงประชามติ จาก 3 ครั้ง ให้เหลือ 2 ครั้งได้หรือไม่ อย่างน้อยที่สุดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไว้ก่อนก็ยังดี สส.พริษฐ์เห็นว่าการพักร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ทำให้ล่าช้าไป 180 วัน แต่ไม่ใช่อุปสรรค

แต่อุปสรรคขั้นสุดท้าย ก็อาจมาจาก สว.ผู้เห็นต่างอยู่นั่นเอง เพราะการลงมติในขั้นสุดท้ายที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จะต้องมี สส. และ สว.เห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา และจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. อย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 67 เสียงขึ้นไป มิฉะนั้นร่างแก้ไขจะตกไป แม้จะได้รับความเห็นชอบจาก สส. ทั้งสภา.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม